“อ้อย” - ฐิตินาถ ณ พัทลุง นักเขียนชื่อดังจากหนังสือดี “เข็มทิศหัวใจ” ในฐานะกูรูด้านการสำรวจจิตใจภายในของตนเองอธิบายวิธีการดูแลสภาพจิตใจตัวเองและการปรับทัศนคติความคิดให้เป็นเชิงบวกแม้ต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหนาสาหัส ว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือ การได้มีเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ
“หากวันหนึ่งเราจำต้องเผชิญหน้ากับปัญหา หรือเราเกิดหลุมดำในจิตใจ เราต้องเติมมันให้เต็มด้วยตัวเอง เราไม่สามารถเรียกร้องให้คนอื่นมาเติมให้เราได้ หลุมที่ว่านี้ยิ่งกว้าง ยิ่งลึก เราจะยิ่งน่ารักน้อยลง ความสุขก็จะหายไป สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เอาขาลีบๆ สั้นๆ ของเราทั้งสองข้างนี่แหละ ปัก ลงไปบนพื้นแล้วยืนขึ้นให้มั่นใจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใจรายนี้แนะนำแบบติดตลก ก่อนจะยืนยันว่า ขอแค่ตัวเราเองมีเวลาอยู่กับตัวเองได้สักชั่วขณะหนึ่งโดยไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวนจิตใจ เพียงเท่านี้เราก็จะได้สำรวจจิตใจของเราว่ามีหลุมตรงไหนด้วยเรื่องอะไร และได้พิจารณาด้วยสติและเหตุผลเพื่อแก้ปัญหา
“แต่ปัญหา ก็คือ สังเกตไหมว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่ต้องดูไกล ทุกวันนี้เราจะเห็นคนส่วนใหญ่ พอขึ้นรถไฟฟ้า รถประจำทาง ก็ต้องกด BB หาเพื่อน ต้องส่ง SMS ต้องคุยโทรศัพท์ หรือไม่ก็ต้องยกเครื่องเล่น Mp3, Mp4 ขึ้นมากดเพลงฟัง นั่นแปลว่า เราอยู่กับตัวเองไม่ได้แม้ในชั่วขณะเดียว เราพึ่งพาอาศัยของเหล่านี้จนบางครั้งเราลืมสำรวจตัวเองหรือคนข้างๆ ไปหรือเปล่า เราละเลยเวลาที่จะอยู่กับตัวเอง และในขณะที่เราอยู่กับคนที่เรารัก เราอาจจะกำลังโทรศัพท์ บางครั้งถึงขนาดที่ก่อนออกมาทำงาน เราลาเขาทั้งๆ ที่หูเราแนบโทรศัพท์คุยกับคนอื่นอยู่ด้วยซ้ำ แต่พอเราอยู่ห่างคนรักของเรา เรากลับเลือกที่จะโทรคุยกันแทน ทั้งที่เราอยู่กับเขาทุกวัน”
ฐิตินาถ เผยประสบการณ์แสนเศร้าของเธอว่า ในวันที่สามีเสีย เป็นวันปีใหม่ ข้างบ้านกำลังเปิดเพลง “สวัสดีปีใหม่” เพื่อฉลองกันอย่างสนุกสนาน แต่คุณแม่เดินมาบอกว่าพ่อของน้องทะเล (ลูกชาย) เสียชีวิต
“วินาทีนั้นก่อนที่อ้อยจะล้มฟาดลงไป อ้อยเห็นน้องทะเลที่อายุไม่ถึงขวบ ชูแขนและพยายามจะยืดตัวให้สูงที่สุด เพื่อเอามือมาแตะแก้มแม่ เราเลยรู้สึกว่า เราต้องอยู่ให้ได้เพื่อเขา แล้วเราก็เห็นแก่ตัวนะ ที่เรามัวแต่เศร้าจนไม่รู้สึกเลยว่าที่รักเรา อย่างน้องทะเล คุณแม่ หรือครอบครัว ทุกข์และเศร้ามากกว่าเรา เพราะเขาเป็นห่วงเขา เรื่องความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นกับคนอื่นทุกๆ คน ทุกๆ วัน”
หลังจากการสูญเสียสามี เธอต้องแบกรับหนี้สินมหาศาลเป็นร้อยล้านบาท เจ้าหนี้มาทวงเงินตั้งแต่ตั้งสวดศพสามี ทำให้เธอเครียดมาก แต่วันหนึ่งเธอก็คิดได้ว่า คนอื่นไม่เดือดร้อนกับเรื่องเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับชีวิตเธอ ทั้งสามีเสียชีวิต และมีหนี้ทีเดียวร้อยล้าน เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเขา
“ถ้ามันเกิดกับเขา เขาจึงจะเดือดร้อน ทุกคนมีปัญหา ปัญหาของเรา เรื่องเจ้าหนี้มาทวง เรื่องมีคนมาโกงเราแล้วบอกว่าเราโกงเขา พออ้อยคิดได้แบบนี้ อ้อยจึงลองปรับมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น คือ คนทำร้ายเราเหมือนเขาเอามีดมาวางไว้ แต่ไอ้ที่เราทำร้ายเราจริงๆ มันคือความคิดของเรา เขาแค่วางมีดไว้ แต่เมื่อเราคิด เราทุกข์ เรากำลังเอามีดที่เขาวางไว้มากระหน่ำแทงตัวเอง
อ้อยจึงเปลี่ยนมุมมอง และคิดว่า เรื่องของเราก็เป็นเรื่องๆ ที่หนึ่งเกิดขึ้น เอาตัวเองมายืนดูปัญหาในฐานะของคนอื่น แล้วเราก็มองเห็นปัญหา หลังจากนั้น อ้อยก็แยกได้ ทุกข์ส่วนทุกข์ เศร้าส่วนเศร้า หนี้ส่วนหนี้ และใจเราก็ส่วนใจเรา”
จากนั้นผู้หญิงเก่งคนนี้ละวางที่จะเอาอารมณ์ไปปะปนกับเหตุผล และเริ่มใช้สติในการแก้ปัญหา และเมื่อเธอมองเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของเธอ เธอไม่เอาอารมณ์ทุกข์เศร้าเข้าไปทำให้สถานการณ์มันแย่ยิ่งขึ้น เธอก็เริ่มมองเห็นทางออกของปัญหา และเริ่มที่จะลงมือทำ ในที่สุดเธอก็สามารถใช้หนี้ร้อยล้านหมดภายใน 2 ปีครึ่ง ด้วยวิธีการมองปัญหาว่าอยู่ส่วนปัญหา เคล็ดลับสำคัญอย่างเดียวของเธอ คือ การรักษาใจ เติมใจให้เต็มเพื่อให้พร้อมสำหรับการแก้ปัญหา ดูแลอารมณ์ภายในให้มั่นคง
“ฝรั่งเขาเริ่มสนใจวิธีการศึกษาจิตใจ แต่คนไทยมีศาสนาพุทธมา 2500 กว่าปี วิธีการที่พระพุทธศาสนาสอนให้เราอยู่กับตัวเองแบบง่ายๆ ก็คือการกำหนดรู้ในการทำกิจต่างๆ เช่นเดินจงกรม นั่นคือวิธีการเราจะได้ดูตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง ได้ศึกษาภายในจิตใจ เราสามารถนำมาปรับใช้ในการใช้สติคิดถึงปัญหา เผชิญหน้ากับมัน และมีสติในการคิดหาทางแก้ปัญหา” ฐิตินาถ ทิ้งท้าย