xs
xsm
sm
md
lg

“พินิจวรรณกรรมซีไรต์” วิชานี้มีที่เดียวในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณครูนัยนา จิตรรังสรรค์
จากแรงบันดาลใจที่อยากให้เด็กไทยรักการอ่าน และได้รู้จักกับวรรณกรรมดีๆ ผนวกกับความชอบส่วนตัว คุณครูนัยนา จิตรรังสรรค์ แห่งโรงเรียนเทพลีลา จึงคิดหลักสูตรวิชาซึ่งมีสอนที่เดียวในโลก ชื่อว่า “พินิจวรรณกรรมซีไรต์” วิชาที่จะนำนักเรียนไปสัมผัสวรรณกรรม และนักเขียนอย่างใกล้ชิด

**กำเนิด “พินิจวรรณกรรมซีไรต์”
คุณครูนัยนา จิตรรังสรรค์ ผู้ริเริ่มรายวิชานี้ เปิดเผยว่า วิชาพินิจวรรณกรรมซีไรต์ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรการเรียนในปี 2546 ที่เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนสามารถใช้หลักสูตรท้องถิ่น หรือคิดรายวิชาใหม่ๆ ได้ โดยอิงหลักสูตรแกนกลางไว้ ซึ่งตนเองสอนวิชาภาษาไทยอยู่แล้ว จึงอยากเสริมทักษะการอ่าน เพื่อให้เด็กอ่านหนังสือและได้อ่านวรรณกรรมดีๆ ได้คิดวิเคราะห์จากสิ่งที่อ่านมากขึ้น เมื่อผนวกเข้ากับความชอบส่วนตัว ที่ชอบอ่านวรรณกรรมซีไรต์ จึงมองว่าที่ผ่านมา เด็กยังเรียนวรรณกรรมไม่เฉพาะเจาะลึกมากนัก และซีไรต์ ก็ถือเป็นรางวัลระดับนานาชาติด้วยซ้ำ เด็กจึงน่าจะมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ ขณะเดียวกันหนังสืออ่านนอกเวลาหลายเล่มก็เป็นวรรณกรรมซีไรต์ วิชาพินิจวรรณกรรมซีไรต์ จึงเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา

คุณครูนัยนา เล่าต่อไปว่า เด็กที่เรียนส่วนใหญ่ คือ ศิลป์ภาษา ศิลป์คำนวณ ตลอดระยะเวลาของการสอนมา 7 ปีที่ผ่านมา มีเสียงตอบรับจากเด็กดีมาก เพราะเด็กจะรู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ ได้อ่านหนังสือมากขึ้น และการอ่าน ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะมีจุดมุ่งหมายในการอ่านมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงอ่านผ่านๆ ไป เพราะเด็กจะได้คิด วิเคราะห์สารจากผู้เขียน ถือเป็นการพัฒนาด้านการอ่านของเด็กไปในตัว

“ครูใช้บุคคลเป็นแหล่งเรียนรู้ของวิชานี้ คือ ใช้กวีซีไรต์ มาเป็นวิทยากรพิเศษให้นักเรียน หมายถึงเด็กเรียนหนังสือเล่มไหนในปีนั้น ก็จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เจอกับกวีซีไรต์ มีการจัดกิจกรรมวันพบนักเขียนคนดัง นักอ่านคนเด่น ซึ่งครูก็จะเชิญนักเขียนซีไรต์มาพบกับเด็ก พาเด็กไปสัมภาษณ์ตามงานแถลงข่าวเกี่ยวกับรางวัลซีไรต์ ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เด็กได้ศึกษานอกห้องเรียน”

เมื่อถามว่า เด็กเรียนวิชานี้แล้ว นำไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง คุณครูนัยนากล่าวว่า เด็กเล่าให้ฟังว่า มีคำถามเกี่ยวกับวรรณกรรมซีไรต์ในข้อสอบแอดมิชชัน รวมถึงบางรายวิชาของการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

“เด็กได้พื้นฐานในการอ่าน ได้รู้จักงานวรรณกรรม สร้างความคิดที่หลากหลาย มุมมองที่กว้างขึ้น เช่น หากพูดเรื่องความน่าจะเป็น เด็กก็จะรู้ว่าไม่ใช่แค่วิชาคณิตศาสตร์ แต่เป็นชื่อวรรณกรรมของ คุณปราบดา หยุ่น หรือ ความสุขของกะทิ ไม่ใช่เป็นแค่หนัง แต่เป็นวรรณกรรมซีไรต์ และเด็กก็สามารถคิดวิเคราะห์ได้ลึกกว่า ว่ามีอะไรแฝงอยู่ เช่น มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแฝงอยู่เนื้อหา เป็นต้น”

ด้านวิธีการสอน คุณครูนัยนา เปิดเผยว่า การสร้างพื้นฐานการอ่านให้เด็ก ครูผู้สอนเอง ก็จะต้องเลือกเรื่องที่จะให้เด็กอ่านได้ง่ายๆให้เด็กรู้สึกรักในการอ่านก่อน เรื่องไหนยากมาก เราก็อาจจะเลี่ยงไปก่อน เมื่อเด็กคุ้นเคย และมีความรักในการอ่านมากขึ้น เด็กก็จะพยายามขวนขวายหางานที่ยากขึ้นเอง แต่ครูก็ต้องขยับขยายความคิดเด็ก เสริมความรู้แทรกจากวรรณกรรมเข้าไปด้วย เช่น เรื่องการเมืองต่างๆ ครูก็แทรกความรู้จากงานซีไรต์ได้เช่นกัน เช่น ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของ คุณวินทร์ เลียววาริณ

สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การเรียนวิชานี้เด็กยังได้รับประโยชน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต เพราะต้องออกไปพบปะและสัมภาษณ์นักเขียนโดยตรง ซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนให้วิชานี้มีความสมบูรณ์ คือ หอสมุดแห่งชาติ เพราะทุกปีหอสมุดแห่งชาติจะจัดงานแถลงข่าวรางวัลซีไรต์ประจำปี โดยมีกวีซีไรต์ที่ได้รับรางวัลจากทุกประเทศมาร่วมงาน

“เด็กที่เรียนวิชานี้ก็จะมีโอกาสเข้าร่วมงาน และได้ฝึกทักษะการเข้าสังคม การฝึกภาษา การแลกเปลี่ยนกับนักเขียนโดยตรง เป็นการเรียนรู้ที่ไมใช่เพียงแค่ในตำรา หรือในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น”
“นัท” ชลธิส วังเย็น และ น้อยหน่า” น.ส.สวรรพร แก้วดาลาวง
**เสียงสะท้อนจากห้องเรียน

“น้อยหน่า” น.ส.สวรรพร แก้วดาลาวง นักเรียนจากประเทศลาว ซึ่งติดตามครอบครัวมาศึกษาที่เมืองไทย เป็นนักเรียนคนหนึ่งที่เลือกเรียนวิชานี้ น้อยหน่าบอกว่า

“การเรียนวิชานี้ทำให้ได้อ่านวรรณกรรมมากขึ้น รู้จักคิดวิเคราะห์ หนูอยากให้ที่ประเทศลาว มีการสอนแบบนี้บ้าง คนลาวจะได้อ่านหนังสือกันมากขึ้น เพราะที่ประเทศลาวไม่ค่อยอ่านวรรณกรรม ถ้ามีการสอนวิชาแบบนี้บ้างก็จะดี”

“นัท” ชลธิส วังเย็น นักเรียนซึ่งมีวรรณกรรมซีไรต์เล่มโปรด คือ ความสุขของกะทิ และลับแลแก่งคอย วรรณกรรมซีไรต์ปีล่าสุด เล่าว่า เลือกเรียนวิชานี้ เพราะพี่ชายเคยเรียนมาก่อน แล้วกลับไปแนะนำว่า เป็นวิชาที่น่าสนใจ แถมยังเป็นวิชาที่เปิดสอนแห่งเดียวในโลก จากการเรียนผ่านมา 1 ภาคการศึกษา ฝึกให้ผมรู้จัก คิด วิเคราะห์ สิ่งที่ได้จากการอ่าน รวมทั้งการฝึกการพูดนำเสนอหน้าชั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือเลย เพราะคิดว่าคงไม่ได้อารมณ์เหมือนดูละครโทรทัศน์

“แต่เมื่อได้เรียนรู้จากการอ่าน จึงทราบว่า ภาษาในวรรณกรรม มีความสละสลวย น่าสนใจมาก”นัทตบท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น