“ปธ.สภาวัยโจ๋” สุดทน ชี้ 90% เด็กไทยมองการเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม เลวร้าย น่าเบื่อ น่ารำคาญ อีก 80% กระทุ้งผู้ใหญ่ไม่ใส่ใจสนับสนุนเด็ก เป็นเหตุให้เด็กก้าวร้าว สร้างปัญหาให้สังคม มีทั้งแก๊งปาหิน แข่งรถ ขณะที่ “พ.ร.บ.เด็ก” เปิดช่องให้เยาวชนโชว์กึ๋นตามอัทธยาศัย เด็กส่วนใหญ่หวังอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจน ด้านสสส.คาดในอนาคตเด็กสามารถสร้างนโยบายเจ๋งๆขึ้นเองได้
ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 11 องค์กร อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจลฯ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัด “มหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม” ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 9-11 ต.ค. ภายในงานมีเสวนา “มองพรบ.เด็กแบบเด็กๆ” โดยนายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้สภาเด็กและเยาวชนฯก่อตั้งขึ้นมาไม่ถึง 1 ปีแต่ก็มีเครือข่ายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศและมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแต่ละพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ตั้งแต่พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ในปี 2551 ที่ให้เด็กมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยที่ไม่มีบทลงโทษหรือข้อกฎหมายเอาผิดกับเด็ก ซึ่งเด็กจะได้มีกระบอกเสียงส่งผ่านไปถึงผู้ใหญ่ในหันมายอมรับและสนับสนุน เพราะสาเหตุหลักที่เด็กไม่มีแรงบัลดาลใจในการทำประโยชน์ให้สังคม เพราะผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ จึงทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง มีการก้าวร้าว แสดงออกในทางที่ผิด เช่น แก๊งรถแข่ง แก๊งปาหิน สร้างความเดือดร้อนให้สังคม
“จากการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนจำนวน 1,700 รายในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า เยาวชนร้อยละ 80 มองว่าผู้ใหญ่ไม่ให้ความเคารพในการแสดงออกทางความคิดและการปกป้องสิทธิให้กับเด็ก นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความคิดเห็นในเรื่องการเมือง โดยเยาวชนร้อยละ90 ไม่มีความรู้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่อยากรับรู้เรื่องการเมืองเพราะเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป มองว่าการเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม เลวร้าย วุ่นวาย น่าเบื่อ น่ารำคาญ เด็กส่วนใหญ่จึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองและไม่อยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง” นายรัชฎะ กล่าวและว่า สิ่งที่เด็กต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรมจริงๆคือการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ายื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง เด็กทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาที่ดีเป็นผู้รู้ที่แท้จริง
ด้าน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของเด็กได้เป็นอย่างดีว่าเด็กมีศักยภาพ และต้องการการสนับสนุนที่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ ซึ่งควรต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีส่วนเอื้อต่อการพัฒนาเด็ก และเยาวชน อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่ให้เด็กแสดงออกครั้งนี้ทำให้เด็กได้ถ่ายทอดความคิดที่เป็นประโยชน์กับสังคม คงต้องสร้างค่านิยมให้เห็นว่ามีหลายอย่างที่เด็กสามารถมีส่วนร่วมได้ทำได้ คาดว่าต่อไปเด็กจะใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนให้เป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป