xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” ยกระดับสารไดเมทิลแอมเฟตามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตฯ ประเภท 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.
“วิทยา” ลงนามยกระดับสารไดเมทิลแอมเฟตามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 แล้ว แต่ยังบังคับใช้ไม่ได้ ติดขัดที่ สลค.ท้วงติง อย.ยืนยันเนื้อหาสาระตามเดิมส่งกลับ สลค. เร่งพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลผู้ครอบครองโทษสูงสุดประหารชีวิตแทนจำคุกแค่ 20ปี หลังพบนักค้ายาหัวใสนำมาผลิตเป็นยาบ้า เลี่ยงโทษหนัก แถมกำไรสูง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นการกำหนดให้สารไดเมทิลแอมเฟตามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 จากเดิมที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2แล้ว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ประกาศ สธ.ฉบับนี้ยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ท้วงติงให้มีการปรับแก้รูปแบบของกฎกระทรวงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อย.ได้ยืนยันเนื้อหาสาระและรูปแบบประกาศ สธ.เช่นเดิมกลับไปยัง สคล.แล้ว เพื่อให้เร่งพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 180 วัน
 

จากนั้นจะส่งผลให้ผู้ที่ครอบครองสารไดเมทิลแอมเฟตามีน ซึ่งเดิมมีโทษสูงสุดเพียงจำคุก 20 ปีเท่านั้น เพิ่มเป็นมีโทษสูงสุดประหารชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่ครอบครองสารแอมเฟตามีนที่เป็นสารประกอบของยาบ้าและยาไอซ์ ซึ่งสารไดเมทิลแอมเฟตามีน จัดเป็นเกลือของสารแอมเฟตามีน ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่าแอมเฟตามีน แต่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาบ้าได้เช่นเดียวกัน

“การออกประกาศกระทรวงฯยกระดับประเภทสารดังกล่าวเป็นการป้องกัน ไม่ให้ใช้ช่องของกฎหมายในการลักลอบผลิตยาเสพติด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ค้ายาเสพติดนำสารชนิดนี้มาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตยาบ้า เพราะเป็นยากลุ่มที่มีฤทธิ์น้อยกว่าแอมเฟตามีน แต่ผู้ค้าสามารถนำมาลักลอบจำหน่ายในราคาที่เท่ากับแอมเฟตามีน ทำให้ได้กำไรมากขึ้น ขณะที่หากถูกจับดำเนินคดีจะได้รับโทษสูงสุดเพียงแค่จำคุก 20 ปี ไม่ใช่ประหารชีวิต และเท่าที่ทราบยังไม่มีการลักลอบจำหน่ายยาบ้าที่มีส่วนผสมของสารไดเมทิลแอมเฟตามีนแทนสารแอมเฟตามีนมากนัก แต่อาจมีแนวโน้มการลักลอบจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต” นพ.พิพัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น