ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประสาทวิทยา สับการจัดการเรียนรู้ไทยสอนผิดธรรมชาติสมองเด็ก เรียนจากสัญลักษณ์ไปหาของจริง ทำเด็กใช้ความจำสูง แต่คิดวิเคราะห์ไม่เป็น แนะปรับกระบวนการใหม่เปิดสมองด้วยศิลปะไปสู่ภาษากาย พูด อ่าน เขียน อ่านในใจ เชื่อต่อยอดไปสู่วิชาอื่นได้
พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร.(องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาอ่อนภาษาไทยอย่างมาก โดยพบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เรียนชั้นประถมศึกษายังอ่านภาษาไทยไม่คล่อง สะกดคำไม่แม่น ทำให้สื่อสารความหมายที่ลึกซึ้งไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลไปสู่การเรียนรู้สาขาวิชาอื่นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คิดวิเคราะห์เชิงรุกไม่ได้ ในที่สุดจะทำให้ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้ จนทำให้เกิดการด้อยศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ สำหรับปัจจัยที่ทำให้เด็กอ่อนด้อยภาษาคือ กระบวนการสอนของพ่อแม่และครูที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ การรับรู้ในระบบสมองของมนุษย์ คือเน้นการท่องจำมากกว่าความเข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ผอ.สบร.กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้(สสอน.) จึงทำโครงการวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ตามหลัก Brain-Based Learning (BBL) ในระดับอนุบาลและประถมศึกษา ช่วงชั้นที่ 1 (อ.-ป.3) ในโรงเรียนนำร่อง 12 แห่ง ทั้ง 4 ภูมิภาค ของประเทศ โดยมีการปรับกระบวนการแนวทางจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ อบรมให้ความรู้ตามหลัก BBL ซึ่งจากการดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างชัดเจนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างเป็นกระบวนการสนใจและกระตือรือร้นในการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการอ่านภาษาไทยดีขึ้นอย่างมาก รวมถึงกล้าแสดงออก กล้าพูด และกล้าแสดงความคิดเห็น
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ บุญเกิด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประสาทวิทยา ในฐานะที่ปรึกษาสสอน. กล่าวว่า จริง ๆ แล้วสมองของเด็กไทยไม่ต่างจากเด็กต่างชาติ ถ้าได้รับการฝึกฝนที่ดี เด็กไทยจะไม่ด้อยกว่าเด็กชาติใดในโลก ซึ่งเห็นได้จากการไปกวาดเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการมามากมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถพัฒนาสมองของเด็กตามช่วงอายุได้อย่างไร แต่ปัญหาหลักในการจัดการเรียนรู้ของบ้านเราส่วนใหญ่จะสอนผิดวิธีธรรมชาติของสมอง คือ เรียนจากสัญลักษณ์ไปหาของจริง ทำให้เด็กต้องใช้ความจำ
“จากผลการสอบต่างๆ ที่ออกมาอย่างที่เห็น คือ คนที่จำเก่งก็เอาตัวรอดได้ ทำคะแนนได้ดี แต่คิดวิเคราะห์ไม่ได้ ขณะที่การจัดการเรียนที่ถูกต้องจะต้องกลับทิศโดยให้เรียนจากของจริงไปหาสัญลักษณ์ โดยเริ่มต้นจากการเล่นทั้งดนตรีและศิลปะไปสู่ภาษากาย ภาษาพูด ภาษาอ่าน ภาษาเขียน และการอ่านในใจ เพราะถ้าเด็กอ่อนภาษาจะส่งผลให้การเรียนวิชาอื่นๆ อ่อนตามไปด้วย ซึ่งวิธีแก้คือ ต้องเริ่มเปิดสมองใหม่ด้วยศิลปะ เนื่องจากสมองจะเรียนรู้โดยเริ่มต้นจากศิลปะแล้วต่อยอดไปสู่วิชาอื่นๆ ต่อไป” ที่ปรึกษา สสอน.กล่าว