xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” สั่งจับตาเชื้อมาลาเรียพันธุ์ใหม่แพร่จาก “ลิง” รับถึงตายแต่รักษาหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วิทยา" สั่งสสจ.จังหวัดตามแนวชายแดน จับตาเชื้อมาลาเรียพันธุ์ใหม่ "พลาสโมเดียม โนซี่" ติดต่อจากลิงสู่คนระบาดหนักในมาเลเซีย ล่าสุดพบคนไทยป่วย 3 ราย แต่หายป่วยแล้ว ชี้ป้องกันได้ และมียารักษาหายขาด เตือนหากมีไข้ หนาวสั่น มีประวัติเข้าป่า รีบพบแพทย์ ปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ไตวาย ตับพังได้

วันที่ 11 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยมาเลเซีย ซาราวัก ค้นพบเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อจากปรสิตพลาสโมเดียม โนซี่ (Plasmodium knowlasi) ซึ่งเป็นปรสิตแพร่จากลิงสู่คนโดยยุงก้นปล่อง จากเดิมที่เป็นโรคติดต่อในลิงโดยเฉพาะลิงกัง และลิงแสม แต่กลับแพร่เชื้อสู่คน และเชื่อว่าเชื่อนี้ร้ายกาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถขยายพันธุ์ในกระแสเลือดได้ใน 24 ชั่วโมง โดยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2549-2551 มีชาวมาเลเซียป่วย 150 ราย 2 ใน 3 มีปัญหาที่ไต และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค เร่งตรวจสอบการระบาดของโรคมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่พบมาลาเรียมาก เฝ้าระวังเชื้อนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้อมีการแบ่งตัวในกระแสเลือดเร็ว และไปอุดตันเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงตับ ไต ทำให้ตับไตวาย เสียชีวิตได้

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยเบื้องต้น ได้รับรายงานว่า ประเทศไทยเคยพบผู้ป่วยจากเชื้อนี้แล้ว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวน 1 รายที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่ปัจจุบันมีคนไทยติดเชื้อและมีอาการป่วยแล้ว 3 ราย คือ ยะลา 2 ราย และจันทบุรี 1 ราย โดยทีมแพทย์ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจพิสูจน์หาเชื้อปรสิตจึงทราบว่าติดเชื้อมาลาเรียนสายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาโดยให้ยารักษาตามปกติ และอาการหายเป็นปกติแล้ว และไม่พบมีการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนโรคยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 รายติดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร

“ขณะนี้ต้องให้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน ในการป้องกันโรค เนื่องจากโรคนี้ป้องกันได้และมียารักษาหายขาด ที่สำคัญคือ หากมีไข้หนาวสั่น มีประวัติเข้าป่าหรืออยู่ในพื้นที่มาลาเรียชุกชุม จะต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อและให้การรักษาโดยเร็ว”นายวิทยากล่าว

ด้านนพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในไทยพบเชื้อมาลาเรีย 4 ชนิด มากที่สุดได้แก่ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารั่ม (Plasmodium falciparum) บริเวณชายแดนไทย-พม่า พบร้อยละ 70 ส่วนด้านชายแดนไทย-เขมร พบร้อยละ 50 มีระยะแบ่งตัวอย่างครบวงจรในเลือด 48 ชั่วโมง ที่พบรองลงมาอีก 3 ชนิด คือ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) พลาสโมเดียม มาลาเรียอี่ และ พลาสโมเดียม โอวาเล่ (Plasmodium ovale) ระยะการแบ่งตัวในเลือดประมาณ 48-72 ชั่วโมง

สำหรับเชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม โนซี่ เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่ 5 เดิมพบในลิง และเริ่มมีรายงานพบในคน ในประเทศมาเลเซียมีรายงานพบในรัฐซาราวัก ซาบา และ ปาหัง ในปี 2544-2549 มีผู้ป่วย 266 ราย จากการตรวจทั้งหมด 960 ราย นอกจากนั้น ยังมีรายงานผู้ป่วยประปรายที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และไทย เชื้อชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคล้ายกับเชื้อพลาสโมเดียม มาลาเรียอี่ (Plasmodium malariae) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้น้อยมากไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยมีอาการสำคัญเหมือนกับมาลาเรียชนิดอื่นๆ คือไข้สูง หนาวสั่น เชื้อจะมีการแบ่งตัวครบวงจรในเลือดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณเชื้อจะมีมากและไปอุดตันตามเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงตับ ไต ทำให้เกิดไตวาย ตับวาย เสียชีวิตได้ง่าย

“ประชาชนไม่จำเป็นต้องกังวลหรือตื่นตระหนกเกินไป เพราะโรคนี้ป้องกันได้ด้วยการป้องกันไม่ยุงก้นปล่องกัด โดยนอนในมุ้ง ทายากันยุง หลีกเลี่ยงการเข้าป่าเขาโดยไม่จำเป็น และหากมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ หลังกลับออกจากป่าหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย ขอให้นึกถึงโรคมาลาเรียไว้ก่อน และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกมาลาเรียประจำหมู่บ้านชุมชน พร้อมให้ประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียและให้ยารักษาที่ตรงกับเชื้อ ซึ่งขณะนี้ยาที่ใช้รักษายังได้ผลดี แต่ผู้ป่วยจะต้องกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้รักษาหายขาดและไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา” นพ.มล.สมชาย กล่าว

สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรียของประเทศไทย ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม-29 สิงหาคม 2552 พบผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมด 26,139 ราย เป็นคนไทย 11,383 ราย ต่างชาติ 14,756 ราย โดยผู้ป่วยไทยพบติดเชื้อลดลงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30 ส่วนผู้ป่วยต่างชาติพบติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 จังหวัดที่พบมาก 10 ลำดับ ได้แก่ ตาก เป็นคนไทย 2,965 ราย ต่างชาติ 10,996 ราย รองลงมา ยะลา กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ชุมพร นราธิวาส ศรีสะเกษ จันทบุรี สุรินทร์ และประจวบคีรีขันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น