อันว่าภูมิปัญญาการนวดของมนุษยโลกนั้นมีมานานนับแต่โบร่ำโบราณ แต่ละประเทศแต่ละดินแดนก็มีแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาของแต่ละชนชาติ แม้กระทั่งในประเทศเดียวกันเช่นประเทศไทยเอง ศิลปะภูมิปัญญาการนวดก็แตกต่างกันภูมิภาคเช่นกัน
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีภูมิปัญญาด้านการนวดรักษาแบบพื้นถิ่น ซึ่งหากดูเผินแค่กรรมวิธีการนวด อาจจะมองว่าไม่ต่างจากการนวดในภาคอื่นๆ ของไทย หากทว่าข้อเด่นเคล็ดลับของการนวดอันเป็นเอกลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อยู่ที่ “น้ำมัน” ที่สกัดมาจากพืชที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู นั่นก็คือ “ยี่หร่าดำ”
มะนาเซ เจะแน หัวหน้าแผนกการแพทย์แผนไทย รพ.จะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ย้อนรอยถึงที่มาของการนวดชนิดนี้ว่า เดิมที่วิชาการนวดแขนงนี้เป็นองค์ความรู้เฉพาะพื้นถิ่นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์ความรู้แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยวัตถุประสงค์หลักของการนวดชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะใช้รักษาอาการปวดเมื่อยทั่วไปและใช้สำหรับนวดสตรีหลังคลอดเป็นหลัก
“ต่อมาเมื่อราวๆ ปี 2549 ผมได้รับงบประมาณก้อนหนึ่งจากสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพมุสลิมไทย ประกอบกับยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลจะแนะ ที่สนับสนุนให้มีการประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการรักษา เพื่อลดช่องว่างปัญหาที่เกิดมาจากความรุนแรงในพื้นที่ ที่ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกไม่ดีต่อหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อเรานำภูมิปัญญาด้านการรักษาแบบท้องถิ่นเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล อย่างเช่นในห้องคลอดของโรงพยาบาล เมื่อเด็กที่คลอดออกมาเป็นชาย หากพ่อแม่ต้องการให้ทำสุหนัดหรือขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตามข้อบัญญัติของอิสลาม ก็จะมีเจ้าหน้าที่ทำให้เลย และเรายังได้จ้างอุสตาซ หรือผู้รู้ในศาสนาอิสลาม มาทำพิธีเปิดปากให้เด็กแรกเกิดตามธรรมเนียมมุสลิมด้วย ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ ประชาชนในพื้นที่ก็จะรู้สึกดีต่อหน่วยงานรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ
“ผมจึงตัดสินใจนำงบประมาณก้อนนั้น เพื่อการเฟ้นหาหมอภูมิปัญญาการนวดแบบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หามาได้ 30 คน จากนั้นก็คัดเหลือ 15 คน แล้วเลือกท่าที่เหมาะสมมาประยุกต์รวมกันเพื่อนำท่าที่เลือกและประยุกต์แล้วเหล่านี้ไปใช้ในโรงพยาบาลควบคู่ไปกับการรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน และได้เรียกชื่อการนวดชนิดนี้เสียใหม่ เพื่อให้คนทั่วไปรับทราบถึงเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เลยตั้งชื่อใหม่ว่านวดแบบลังกาสุกะ”
หัวหน้าแผนกการแพทย์แผนไทยรายนี้ อธิบายถึงลักษณะพิเศษที่ทำให้การนวดแบบลังกาสุกะ แตกต่างออกไปจากการการนวดแบบอื่นๆ ว่า อยู่ที่ “น้ำมัน” ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้จากการนำพืชสมุนไพร 15 ชนิด ต้มรวมกันแล้วใส่ “พระเอก” ของรายการอย่าง “ยี่หร่าดำ” ลงไปด้วย
“ยี่หร่าดำ หรือฮับบะตุซเซาดาอ์ หรือที่บางคนอาจจะรู้จักในชื่อของ “เทียนดำ” เป็นสมุนไพรที่ถูกใช้เพื่อรักษาโรคมาแต่ครั้งโบร่ำโบราณ ในพระวจนะของศาสดามูฮัมหมัดองค์ที่ 25 ได้ระบุชัดว่า สูเจ้าจงใช้ฮับบะตุซเซาดาอ์ มันจำเป็นสำหรับสูเจ้า ฮับบะตุซเซาดาอ์จะรักษาได้ทุกโรคยกเว้นความแก่และความตาย ในการนวดแบบท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สืบต่อกันมา ก็มีการใช้น้ำมันยี่หร่าดำมาใช้เป็นยานวดเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยด้วย และในชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นนี้ หากมีอาการปวดเมื่อยไม่สบายตัว ส่วนใหญ่มักจะไปหาหมอพื้นบ้านเพื่อไปนวดตำรับนี้กันทั้งนั้น ทางโรงพยาบาลจึงเล็งเห็นประโยชน์และนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มประชาชนในพื้นที่”
มะนาเซ ให้ภาพขั้นตอนการรักษาด้วยวิธีการนวดแบบลังกาสุกะ ภายในโรงพยาบาลจะแนะ ว่า เริ่มลงทะเบียนประวัติผู้ป่วย และซักอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้ป่วยเหมือนกับทำทะเบียนประวัติในโรงพยาบาลอื่นๆ ตามปกติ แต่หากว่าผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือปวดตามข้อด้วยสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง แพทย์ก็จะส่งผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยการนวดแบบลังกาสุกะ
“ปกติการนวดทั้งแบบเชลยศักดิ์และการนวดแบบราชสำนัก จะเริ่มนวดจากส่วนเท้าก่อน แต่การนวดแบบลังกาสุกะจะแตกต่างออกไป โดยจะเริ่มจากส่วนหน้าท้องที่บริเวณสะดือก่อน เพราะเชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นประสาทต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับวิชาการแพทย์อายุรเวทที่ระบุว่าจุดนี้เป็นจุดกำเนิดของเส้นประธานทั้ง 10”
มะนาเซ ยังกล่าวอีกด้วยว่านอกจากการนวดและการใช้น้ำมันนวดแล้ว การนวดแบบลังกาสุกะยังมี “ตัวช่วย” สำคัญอย่าง “ลูกประคบ” ที่รวบรวมสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ช่วยทางด้านแก้ปวดเมื่อยจำพวกไพล ขมิ้น ฯลฯและ “หินร้อน” ที่ใช้วางและประคบบริเวณจุดปวด เพื่อให้ความร้อนช่วยให้น้ำมันยี่หร่าดำที่ถูกต้มผสมกับสมุนไพรสูตรเฉพาะของโรงพยาบาล ซึมซาบสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
“ปัจจุบันการให้บริการการรักษาแบบการนวดลังกาสุกะ มีผู้นิยมใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นที่จะเชื่อถือองค์ความรู้ด้านนี้ ก็จะเดินทางมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละวัน ถือเป็นการบูรณาการที่นำเองภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ควบคู่กับการรักษาแบบเดิม เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย ทำให้เมื่อป่วยด้วยอาการไม่ร้ายแรง แค่ปวดเมื่อยหรือปวดข้อธรรมดา คนไข้ก็สามารถเลือกได้ว่าจะกินยาแผนปัจจุบันหรือเลี่ยงการกินยาด้วยการนวดแบบลังกาสุกะ และในส่วนของประโยชน์ทางอ้อม ทางโรงพยาบาลเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชน ประชาชนก็เข้าหาหน่วยงานรัฐมากขึ้น เกิดความสามัคคีในชุมชน” หัวหน้าแผนกแพทย์แผนไทยแห่งโรงพยาบาลจะแนะทิ้งท้าย