xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชน” เสนอ 6 มาตรการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน สัตวแพทย์ ระบุ ศูนย์ดูแลช้างแก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เตรียมเสนอ 6 มาตรการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่วมแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อน เตรียมให้ “สนั่น” เป็นคนเดินเรื่องนำเข้าที่ประชุม ขณะที่ช้างเร่ร่อน 4 เชือก ที่ส่งอยู่ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจน์อ้วนขึ้นทุกเชือก ด้าน “หมอสามารถ” วอนผู้ว่าฯกาญจน์ อนุมัติโครงการระบบน้ำเพื่อปลูกพืชอาหารแก้ปัญหาค่าอาหารช้างที่หมดไปปีละล้าน พร้อมเชิญคนใจบุญร่วมบริจาคช่วยช้างแก่ก่อนหมดอายุขัย

วันนี้ (7 ก.ย.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งรับดูแลช้างเร่ร่อน 4 เชือกที่ กทม.ได้ดำเนินโครงการ “ช้างยิ้ม” เพื่อแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนขอทานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่สารวัตรกรมปศุสัตว์จับกุมและสั่งกักไว้เป็นเวลา 30 วันตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์พ.ศ.2499 ได้แก่ พังทองดี อายุ 18 ปี พลายป๋องแป๋ง อายุ 5 ปี ช้างสีดอ โชคดี หรือนำโชค อายุ 9 ปี และช้างสีดอ น้องแบงก์ อายุ 7 ปี ซึ่งภายหลังจากครบกำหนดทางกรมปศุสัตว์จะดำเนินการส่งกลับภูมิลำเนา ซึ่งช้างที่เราส่งมาอยู่ที่นี่ได้รับการดูแลอย่างดี น้ำหนักตัวขึ้นทุกเชือก

ทั้งนี้ นายธีระชน เปิดเผยถึงแผนการดำเนินการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนของ กทม.หลังจากนี้ว่า วันนี้ (7 ก.ย.) ตนได้เตรียมเข้าพบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาระยะยาวระดับชาติ 6 ด้าน ให้ทางรัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุน ได้แก่ 1.ขอให้มีการจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลช้างบ้าน 3,825 เชือก เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลช้างทุกเชือกได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกรณีการจับกุมช้างเร่ร่อนตามสถานที่ต่างๆ 2.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กทม.ตลอดจนกรมปศุสัตว์เข้มงวดในการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายช้างโดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบต้องดำเนินการจับปรับขั้นสูงสุดพร้อมออกคำสั่งกักตัวช้างด้วย

3.ขอให้กระทรวงแรงงานจัดฝึกอาชีพหัตถกรรมให้ควาญช้างและครอบครัว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์จัดการส่งเสริมการเกษตรกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่บรรดาควาญเจ้าของช้างและประกันราคา พร้อมทั้งส่งเสริมด้านการตลาด 4.ขอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามจังหวัดสำคัญที่เป็นภูมิลำเนาของช้างในลักษณะโครงการช้างคืนถิ่นเพื่อสิ่งเสริมการท่องเที่ยว 5.ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชช่วยเหลือดูแลกรณีช้างที่ได้จับกุมแล้ว พบว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันการเป็นช้างบ้าน ให้ดำเนินการฟ้องร้องและยึดมาเป็นของแผ่นดินเช่นเดียวกับกรณีพังกาญจนา ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีการเคลื่อนย้ายช้างโดยไม่มีใบอนุญาต และ 6.ของบประมาณ 500 ล้านบาท จากรัฐบาลสนับสนุนการดำเนินการให้กับ 5 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกระทรวงละ 100 ล้านบาท ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์

“ข้อเรียกร้องทั้งหมดเป็นการแสดงให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนไม่สามารถทำได้โดยกทม.เพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องมองว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ หากทุกหน่วยงานที่กล่าวถึงประสานความร่วมมือกันได้แล้วโอกาสที่จะทำได้สำเร็จมีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาถึงแม้ กทม.จะพยายามผลักดันจนเรียกได้ว่าช้างเร่ร่อนในพื้นที่ กทม.ไม่มีแล้ว แต่ก็กลายเป็นช้างเร่ร่อนไปโผล่ที่จังหวัดใหญ่อื่นๆ แทน อย่างไรก็ตาม คาดว่า เร็วๆ นี้ จะมีความคืบหน้าในการประชุมใหญ่ร่วมกันระหว่าง กทม.กับหน่วยงานอื่นๆ และน่าจะมีการเริ่มต้นดำเนินการได้ภายในปีนี้” นายธีระชน กล่าวและว่า ส่วนการออกข้อบัญญัติช้างของ กทม.นั้น ขณะนี้ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของเอกชนที่ร่วมยกร่าง พ.ร.บ.ช้างดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของยกร่างดังกล่าวอยู่ แต่หากสามารถดำเนินการตามาตรการข้างต้นได้ก็ไม่จำเป็นต้องออกข้อบัญญัติช้างของ กทม.

ด้านนายสัตวแพทย์ สามารถ ประสิทธิ์ผล ผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี หรือบ้าน ช.ช้างชรา กล่าวว่า ที่ศูนย์แห่งนี้จะรับดูแลช้างที่มีอายุมากแล้วโดยขณะนี้มีช้างอยู่ในความดูแลของศูนย์จำนวน 9 เชือก เป็นของศูนย์ 5 เชือก ที่เหลือเป็นของ กทม.4 เชือก โดยช้างที่มีอายุมากสุด คือ 74 ปี คือ พลายน้องอ้วน อรอนงค์ ซึ่งเฉลี่ยช้าง 1 เชือกจะเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารวันละ 1,000 บาท ค่าจ้างควาญช้าง 7 คน เดือนละ 3,000 บาท ตกปีละ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องค่าอาหารช้างอยู่ แม้จะมีการปลูกพืชที่เป็นอาหารช้างได้แต่ก็สามารถปลูกได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในช่วงหน้าฝน ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตนได้เขียนโครงการเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อของบประมาณมาจัดการ ระบบน้ำเพื่อให้สามารถปลูกพืชเป็นอาหารให้ช้างได้ตลอดปีได้ ซึ่งขณะนี้เรื่องก็ยังเงียบอยู่ อย่างไรก็ตามตนอยากเชิญชวนผู้ใจบุญร่วมบริจาคทุนเป็นค่าอาหารช้างและค่ากิจกรรมศูนย์ผ่านเลขที่บัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี ชื่อ นาย สามารถ ประสิทธิ์ผล เลขที่บัญชี 713-000-9214 ธนาคารกรุงเทพ สาขาย่อยเทสโก้โลตัส กาญจนบุรี ชื่อ นายสามารถ ประสิทธิ์ผล เลขที่บัญชี 632-0-11373-8 หรือสามารถเช้าเยี่ยมชมกิจกรรมที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี หรือสามารถเข้าไปดูได้ที่ http//www.elephantsworld.org ทั้งนี้ ในส่วนของกทม.นั้นตนอยากให้ช่วยสนับสนุนเงินค่าอาหารตามจำนวนช้างที่ส่งมากักไว้ที่ศูนย์ ซึ่งจะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับศูนย์มากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น