xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยต.ค.ลดลงต่อจากเดือนก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 เปรียบเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2551 พบว่า สภาพคล่องลดลงต่อเนื่องในเดือนตุลาคม อันเป็นผลจากยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งมีจำนวน 5.584 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.92 พันล้านบาท จาก 5.580 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน (แม้ว่าเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 เงินให้สินเชื่อสุทธิยังคงลดลง 2.31 แสนล้านบาท) รวมทั้งจากยอดเงินฝากที่ยังคงลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2.85 พันล้านบาท จาก 6.367 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน มาเป็น 6.364 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม (โดยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงแล้ว 1.21 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2551)

สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)1 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ปรับลดลงอีกเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.11 ล้านล้านบาท ลดลง 1.14 หมื่นล้านบาท จาก 2.12 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อันเป็นผลหลักจากการลดลงในองค์ประกอบ คือ เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์และเงินสดเพิ่มขึ้น ในทิศทางเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายที่แคบลง คือ ไม่นับรวมเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ หรือมาจากผลรวมเฉพาะของเงินสดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น พบว่า มีจำนวน 8.24 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ลดลงจำนวน 7.63 หมื่นล้านบาท จาก 9.00 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน

การลดลงจากเดือนก่อนหน้าของสภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก2 นำโดยการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 1.83 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.38 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ตามมาด้วยการลดลงของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 1.03 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.20 แสนล้านบาท ส่วนสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางเพิ่มขึ้นจำนวน 1.73 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 5.14 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.29 แสนล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก จำนวน 1.89 แสนล้านบาท ขณะที่ สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง 9.37 พันล้านบาท และ 5.04 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ในเดือนตุลาคม 2552 สภาพคล่องในงบดุลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปรับลดลงอีกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากเงินให้สินเชื่อสุทธิที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่หนุนความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจ รวมถึงเงินฝากที่ยังคงขยับลดลง เนื่องจากผู้ออมยังคงมีการดึงเงินฝากออกไปลงทุนในช่องทางการลงทุนอื่นที่เสนอผลตอบแทนจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวม หุ้น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ อันเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อที่น่าจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับตามภาวะเศรษฐกิจ และการเร่งปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปิดงวดบัญชีสิ้นปี ขณะที่ เงินฝากอาจยังคงมีแนวโน้มถูกโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นที่มีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นที่ยอมรับได้สำหรับผู้ออม รวมถึงการที่ผู้ออมอาจจะต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ผลิตภัณฑ์ประกัน และอสังหาริมทรัพย์ อนึ่ง แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีแนวโน้มลดลง แต่สภาพคล่องที่มีจำนวนประมาณ 2 ล้านล้านบาท (ตามความหมายกว้าง) ก็ยังนับว่าเป็นระดับที่สูงและน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจจะลดลงช้ากว่าที่คาดได้ หากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะสะดุดหรือไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่คาดหวังกันไว้ โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจไทย จากประเด็นความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อ ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการลงทุนของผู้ออมที่น่าจะโน้มเอียงไปหาช่องทางการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อาทิ การฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็จะส่งผลให้สภาพคล่องกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ จนส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์คาดการณ์ถึงแนวโน้มสภาพคล่องในอนาคตที่อาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กรณนี้ก็อาจจะนำมาสู่การแข่งขันกันอีกระลอกของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเพื่อรักษาฐานลูกค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น