xs
xsm
sm
md
lg

คลังชี้ครูกู้ไม่เลือก-ไม่คิดชำระคืน ศธ.บริหารจัดการหลวมทำหนี้เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พงษ์เทพ” จวกครูกู้ไม่เลือก ก่อปัญหาวัวพันหลัก ไม่จบสิ้น ชี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แหล่งทุน แต่เป็นเรื่องระบบการบริหารจัดการ เผยในเวลา 6 ปี ครู 4 จว.กาญจนบุรี พะเยา นครพนม และ สงขลา กู้รวมกว่า 1.1 แสนล้าน

นายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการพิเศษระบบการเงินการคลัง กรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการแก้ปัญหาหนี้สินครู ว่า เนื่องจากโครงสร้างหนี้สินของครูมีความซับซ้อนมาก เมื่อปี 2540 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้จัดการธนาคารออมสิน ขณะนั้นก็มีความคิดที่จะให้ครูรีไฟแนนซ์รวมหนี้สินมาเป็นก้อนเดียวกัน ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ที่ให้ครูกู้เงินจากธนาคารไปใช้หนี้ ซึ่งระยะแรกไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการทำประกันชีวิต เพราะเชื่อว่าครูสามารถดูแลตัวเองได้ และเป็นการให้เกียรติครู จากนั้นก็มีการขยายวงเงินกู้ขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันครูสามารถกู้ได้ถึง 2 ล้านบาท โดยหวังว่า ครูจะสามารถหลุดออกจากการเป็นหนี้ได้ แต่เมื่อทำได้ระยะหนึ่งก็พบว่าเงินที่ให้ไปไม่เพียงพอ ครูยังไปกู้หนี้นอกระบบอยู่ ขณะเดียวกัน ครูก็ดิ้นรนเพื่อให้ได้เงินมา โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้ เป็นสมาชิกหลายกองทุน จนกลายเป็นวัวพันหลัก ไม่มีเงินพอผ่อนส่งธนาคาร

นายพงษ์เทพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่กำลังเป็นปัญหานั้น หลักการที่ถูกต้อง คือ เป็นเงินที่ทายาทจะได้ก็ต่อเมื่อครูถึงแก่กรรม แต่มีการเบี่ยงเบนประเด็นด้วยการบอกว่าเป็นเงินของครู ทำไมไม่ให้ครูใช้เงินก่อนตาย แต่ปัญหา คือ ขณะนี้ครูส่วนหนึ่งกู้เงินมากจนเงินหมดสต๊อกแล้ว จึงทำให้เกิดเรื่องการประกันชีวิตเพื่อเป็นการประกันเงินกู้ขึ้นมา ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องการประกันชีวิตจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ตามหลักการถ้าไม่เกี่ยงกันการมีประกันชีวิตก็น่าจะดีกว่า แต่เรื่องหลักเกณฑ์หรือวิธีการปฏิบัติก็ต้องมาพูดคุยกัน

“ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของระบบการบริหารจัดการ เพราะจากการที่กระทรวงการคลังเคยเก็บข้อมูลครูใน 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี พะเยา นครพนม และ สงขลา เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่า ขณะนั้นครูใน 4 จังหวัดดังกล่าวกู้เงินจากธนาคารสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท เฉลี่ยเป็นหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ซึ่งถ้าครูมีเงินเดือนประมาณ 2 หมื่นบาทน่าจะยังชีพได้ปกติ แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติกลับพบว่า ครูไม่ได้คิดถึงเรื่องการชำระหนี้ มีแต่หลอกกันเองว่าจะมีการรีไฟแนนดอกเบี้ยต่ำมาให้กู้ เมื่อครูกู้เงินไปแล้วบางคนก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะเกษียณอายุราชการ หรือตาย ซึ่งก็ไปเป็นปัญหากับเพื่อนครูที่ค้ำประกัน และธนาคาร”นายพงษ์เทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น