xs
xsm
sm
md
lg

ปิด “รัชโยธิน” ตร.เผยช่วงเร่งด่วนติดหนัก กทม.เปิดลายแทง “ทางเลี่ยง” จราจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินซ่อมผิวจราจรแล้ว แนะให้ผู้ใช้ศึกษาเส้นทางเลี่ยง ส่วนผู้ที่ไม่จำเป็นให้หลีกเลี่ยง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด “ภาณุ” ห่วงช่วงเร่งด่วนติดหนักกว่าเดิม

วันนี้ (1 ก.ย.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางตรวจสอบความพร้อม ในการปิดซ่อมสะพานข้ามแยกรัชโยธิน วันแรก ตามโครงการซ่อมแซมสะพานข้ามแยก 13 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบความพร้อมเพื่อให้การซ่อมแซมสะพานส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ทั้งในเรื่องเส้นทางจราจร เรื่องระบบไฟส่องสว่าง ระบบการระบายน้ำ รวมถึงได้ประสานงานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 12 นายทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ 40 นายคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์บอกเส้นทางหลีกเลี่ยงและป้ายบอกเวลานับถอยหลังการซ่อมสะพานรวม 28 แห่ง จึงขอให้ผู้ใช้ศึกษาเส้นทางเลี่ยง ส่วนผู้ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเส้นทางดังกล่าว ให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในส่วนสะพานรัชโยธินใช้ประมาณ 17 ล้านบาท รวมทั้ง 13 สะพานใช้ประมาณ 800 ล้านบาท มั่นใจว่างบประมาณจะไม่บานปลายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ กทม.จะมีการติดตามความคืบหน้าของการซ่อมแซมด้วยการตั้งคณะทำงานติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์ หากประชาชนมีข้อแนะนำหรือร้องเรียนสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน กทม.1555

ด้านพล.ต.ต. ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบ.ชน.) กล่าวถึงสภาพการจราจรบริเวณที่มีการปิดซ่อมแซมว่า ช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 06.00-08.00 น.ที่เป็นช่วงเวลาเร่งด่วน โดยเฉพาะเส้นทางถนนพหลโยธิน ที่คาดว่าจะเกิดปัญหารถติดขัดมากขึ้น จะแก้ไขด้วยการปรับเวลาสัญญาณไฟจราจรให้นานขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ซึ่งตั้งแต่เวลา 06.00 น.ที่ผ่านมาบริเวณโดยรอบการจราจรเริ่มติดขัด และมีรถจำนวนมากโดยเฉพาะขาเข้าจากพระราม 7 แต่ก็สามารถเคลื่อนตัวได้เรื่อยตัวได้เรื่อยๆ ถือว่าเป็นน่าพอใจในระดับหนึ่ง คาดว่าในช่วงเวลาหลัง 09.00 น.ของทุกวันสภาพการจราจรจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ ได้เพิ่มกำลังตำรวจจราจรกลาง อีก 12 นาย มาดูแลการจราจรด้วย พร้อมกับได้ประสานจราจรท้องที่ 5 สถานีโดยรอบ ช่วยระบายรถ และแนะนำเส้นทางเลี่ยง อย่างไรก็ตาม จะได้เตรียมพร้อมรถยก รถลากไว้ หากมีรถเสีย ต้องลากออกจากถนนให้เร็วที่สุด รวมทั้งประสาน กทม.ขอเทศกิจ มาช่วยอำนวยความสะดวกด้วย

สำหรับการซ่อมสะพานข้ามแยกรัชโยธิน จะใช้เวลาซ่อมแซม 30 วัน โดยจะปิดฝั่งขาเข้า มุ่งหน้า แยกรัชดา-ลาดพร้าวก่อน แต่จะเบี่ยงการจราจรให้รถวิ่งสวนทางกันได้ในอีกฝั่งที่ยังไม่ปิดซ่อมตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. และเปิดช่องทางการจราจรให้รถบนพื้นราบ ให้รถสามารถวิ่งตรงได้ทั้งสองฝั่ง โดยฝั่งขาเข้าใช้เวลาซ่อมถึงวันที่ 15 กันยายน จากนั้นจะเปิดให้ใช้ และปิดซ่อมฝั่งขาออกเส้นทางรัชดา-วิภาวดีรังสิตตั้งแต่ 16-30 กันยายน

สำหรับเส้นทางเลี่ยงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน สามารถเดินทางจาก
1. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 30 ทะลุ ซ.รัชดา 30, 32, 36 และ ซ.ลาดพร้าว 23,35,41
2. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 35 ทะลุ ซ.วิภาวดี 35, 42, 44 และ ซ.รัชดา 46/1,48
3. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 33 ทะลุ ซ.รัชดา 46
4. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 23 ทะลุ ซ.วิภาวดี32
5. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 21 ทะลุ ซ.วิภาวดี 30
6. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 19 ทะลุ ซ.วิภาวดี 28
7. เริ่มจาก ซ.พหลโยธิน 24 ทะลุ ซ.ลาดพร้าว 1, 15 และ ถ.รัชดา

ส่วนสะพานต่อไปที่จะปิดช่องจราจรเพื่อทำการปรับปรุง คือ
สะพานข้ามแยกบางพลัด เริ่มปิดการจราจร 15 กันยายน 2552 ใช้เวลา 90 วัน ปิดการจราจรด้านละ 45 วัน
- สะพานข้ามแยกพงษ์เพชร เริ่ม 1 ตุลาคม 2552 ใช้เวลา 90 วัน ปิดการจราจรด้านละ 45 วัน
- สะพานพระรามที่ 4 เริ่ม 1 ตุลาคม 2552 ใช้เวลา 90 วัน ปิดการจราจรด้านละ 45 วัน
- สะพานข้ามแยกคลองตัน เริ่ม 1 ธันวาคม 2552 ใช้เวลา 180 วัน ปิดการจราจรฝั่งละ 90 วัน โดยแบ่งปิดการจราจรเป็น 2 ครั้งๆละ 45 วัน
- สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง เริ่ม 1 มกราคม 2553 ใช้เวลา 90 วัน ปิดการจราจรฝั่งละ 45 วัน
- สะพานข้ามแยกเกษตร เริ่ม 1 เมษายน 2553 ใช้เวลา 30 วัน ปิดการจราจรทั้งสะพาน
- สะพานข้ามสามเหลี่ยมดินแดง เริ่ม 1 เมษายน 2553 ใช้เวลา 30 วัน ปิดการจราจรทั้งสะพาน
- สะพานข้ามแยกประชานุกูล เริ่ม 1 พฤษภาคม 2553 ใช้เวลา 90 วัน ปิดการจราจรด้านละ 45 วัน
- สะพานข้ามแยกท่าพระ เริ่ม 1 พฤษภาคม 2553 ใช้เวลา 90 วัน ปิดการจราจรด้านละ 45 วัน

นอกจากนั้นยังรื้อสร้างใหม่อีก 1 สะพาน คือ สะพานเหล็กข้ามแยกอโศก ส่วนอีก 2 สะพาน คือ สะพานพระราม 9 - รามคำแหง และ สะพานพระราม 9 - อสมท ยังไม่กำหนดปรับปรุง

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบเส้นทางลัด เส้นทางเลี่ยง และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ที่ www.bangkok.go.th และ http://bkkbridge.homeip.net พร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคการเดินทางจากผลกระทบการจราจรได้ที่สายด่วน กทม.1555

กำลังโหลดความคิดเห็น