สธ.ปล่อยคาราวานแท็กซี่กว่า 200 คัน รณรงค์ป้องกันหวัด 2009 ทั่วกรุง หนุนโชเฟอร์ขายเจลล้างมือ หน้ากากอนามัยราคาถูก เข้าถึงผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้าน อภ.เผยอีก 2 วันรู้ผลปริมาณวัคซีนต้านหวัดล็อต 2 หลังได้ปริมาณเชื้อไวรัสมากกว่าเดิม พร้อมเริ่มทดลอบความปลอดภัยวัคซีนล็อตแรกในสัตว์ทดลอง คาดอีก 3 สัปดาห์รู้ผล
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 31 ส.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงาน “แท็กซี่ไทยปลอดภัย รวมพลังสู้หวัด 2009” ซึ่ง สธ.ร่วมกับคณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายแท็กซี่ไทยปลอดภัยใสสะอาด และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า แม้ปริมาณผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัด 2009 จะลดลง แต่การแพร่ระบาด จะยังไม่ยุติหรือหมดสิ้นในเวลาอันใกล้ ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแทบซีกโลกเหนือ ที่เข้าสู่ฤดูหนาวจึงตื่นตัวและมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ส่วนไทยซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาวไปจนถึงสิ้นปี จะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ การรณรงค์จะหยุดไม่ได้
นายวิทยากล่าวต่อว่า การป้องกันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้กับไข้หวัด 2009 จึงน่ายินดีที่ คณะอนุกรรมการฯ หวัด 2009 สสส. และ อภ.จับมือกับเครือข่ายแท็กซี่ไทยปลอดภัยในสะอาด จัดโครงการ “แท็กซี่ไทยปลอดภัย รวมพลังสู้หวัด 2009” มีสหกรณ์แท็กซี่และศูนย์วิทยุเข้าร่วมแล้ว 17 แห่ง มีแท็กซี่ในความดูแลทั้งสิ้น 100,900 คัน มีพนักงานขับรถวันละ 2 รอบ จำนวน 201,800 คน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่า 350 คน บุคคลเหล่านี้ยินดีจะเป็นพลังสำคัญในการป้องกันไข้หวัด 2009 โดยทั้ง 17 สหกรณ์ มีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านคน โดย สธ.จะสนับสนุนหน้ากากอนามัยให้แก่พนักงานขับรถแท็กซี่ 4 แสนชิ้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงสุด ที่ป้องกันสุขภาพตนเองและผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการต้องพบกับผู้ใช้บริการวันละจำนวนมาก การป้องกันตนเองจึงเท่ากับการป้องกันบุคคลอื่น
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สธ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า โครงการ “แท็กซี่ไทยปลอดภัย รวมพลังสู้หวัด 2009” มีมาตรการ 5 ปลอด 1.คนขับปลอดภัย มีการตรวจอุณหภูมิก่อนปฏิบัติงาน 2.รถปลอดภัย เช็ดทำความสะอาดรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 3.ผู้โดยสารปลอดภัย เพราะคนขับสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ อย่างถูกวิธี 4.จุดเสี่ยงปลอดภัย หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ที่เปิดประตู พวงมาลัย เบาะ 5.อากาศปลอดภัย หลังส่งผู้โดยสารจะเปิดกระจกรถ ให้อากาศถ่ายเทและแสงเข้า เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยคณะอนุกรรมการฯ จะสนับสนุนสื่อสื่อรณรงค์เพื่อติดที่รถแท็กซี่ และข้อมูลการป้องกันตนเอง เพื่อให้ผู้สาร เช่น โปสเตอร์ สติกเกอร์ แผ่นพับ
“การป้องกันในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะถือเป็นการตัดวงจรไม่ให้มีการแพร่เชื้อแม้ว่าอัตราการป่วยจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ โดยพื้นที่ในเมืองแม้จะลดลงแต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดลูกศรชี้ขึ้นทั้งหมด ทำให้ต้องทำงานอย่างเข้มงวดต่อไป เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าการระบาดซ้ำจะกลับมาเมื่อใด ซึ่งคาดว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2553 การตัดวงจรการระบาดจึงถือเป็นการป้องกันการระบาดระลอก 2 ได้” นพ.มงคล กล่าว
ด้านนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.จะสนับสนุนให้มีการจำหน่ายเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย บนรถแท็กซี่ เพื่อความสะดวกและให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ซึ่งแท็กซี่คืออีกหนึ่งระบบขนส่งมวลชน ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน โดยจะจำหน่ายเจลล้างมือหลอดใหญ่ขนาด 50 กรัม ในราคา 25 บาท หน้ากากอนามัยชนิดกระดาษ 4 ชิ้น 10 บาท และหน้ากากอนามัยชนิดผ้าชิ้นละ 10 บาท
นพ.วิทิต กล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วยว่า ขณะนี้ทีมนักวิจัยได้เก็บเกี่ยวผลผลิตวัคซีนล็อตที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ปริมาณน้ำเชื้อไวรัสทั้งสิ้น 5.5 ลิตร มากกว่าวัคซีนล็อตแรกที่ได้ปริมาณน้ำเชื้อไวรัสเพียง 3.5 ลิตร แต่ยังอยู่ระหว่างการคำนวณว่าวัคซีน 1 โด๊ส จะได้ไวรัสกี่ล็อก โดยจะทราบผลในอีก 2 วัน นี้
“แนวโน้มวัคซีนล็อตที่ 2 น่าจะได้เชื้อไวรัสมากกว่าวัคซีนล็อตแรกที่ 1 โด๊สมีไวรัสเพียง 6.3 ล็อก เพราะมีปริมาณน้ำเชื้อมากกว่า และมีปริมาณผิวของไวรัสมากกว่า คือ ได้ 32-64 เอชเอ ไตเตอร์ ขณะที่วัคซีนล็อตแรกมีผิวไวรัสเพียง 2 เอชเอ ไตเตอร์เท่านั้น ซึ่งทีมวิจัยจะผลิตวัคซีนล็อตต่อๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อทดสอบจุดด้อย หรือข้อสงสัยในกระบวนการผลิตวัคซีนต่างๆ” นพ.วิทิต กล่าว
นพ.วิทิต กล่าวด้วยว่า ขณะนี้นักวิจัยของ อภ.ได้ทดสอบการเพาะเชื้อไวรัสในจานเพาะเชื้อกับวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตเสร็จบรรจุในขวดยาได้จำนวน 1,270 ขวด โดยตรวจสอบเสร็จแล้ว 2 เชื้อโรค คือ ไมโครพลาสมา และไมโครแบคทีเรีย ผลทดสอบระบุว่าวัคซีนปราศจากเชื้อโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ แต่ยังต้องทดสอบเชื้อโรคชนิดอื่นๆ อีกหลายรายการ
นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า ส่วนการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองนั้น อภ.ได้ส่งตัวอย่างวัคซีนไปให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำการความปลอดภัยของวัคซีนในสัตว์ทดลอง 2 เรื่อง คือ 1.ทดสอบความเป็นพิษ โดยได้ฉีดวัคซีนเข้าท้องหนูตะเภา จะทราบผลในสัปดาห์หน้า และ 2.ทดสอบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่ายการได้หรือไม่ โดยได้พ่นวัคซีนใส่จมูกหนูตะเภา ทดสอบนาน 3 สัปดาห์จึงจะทราบผล หากปลอดภัยก็จะเริ่มทดลองในอาสาสมัครชุดแรก
นพ.วิทิต กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการเจรจากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิทยาเขตบางขุนเทียน เพื่อขอเช้าห้องปฏิบัติการแห่งใหม่ สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากเชื้อไวรัสเป็นนั้น ได้ข้อสรุปแล้ว ว่าภายในสัปดาห์นี้ อภ.กับ มจธ.วิทยาเขตบางขุนเทียน จะทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการทดลองวิจัยวัคซีนชนิดเป็น โดย อภ.จะขอเช่าห้องปฏิบัติการระยะยาว 10 ปี และลงทุนปรับปรุงห้องปฏิบัติการ จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เอง งบประมาณเบื้องต้น 200 ล้านบาท โดย อภ.จะของบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพราะเป็นโครงการลงทุนระยะยาว รวมทั้งของบจากองค์การอนามัยโลกด้วย ซึ่งในอนาคตจะเปิดกว้างให้นักวิจัยวัคซีนจากทุกสถาบันสามารถเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดเป็นของ อภ.ได้
จากนั้น นายวิทยาพร้อมด้วย นพ.มงคล และนพ.วิทิต ได้ร่วมกันติดสื่อรณรงค์บนรถแท็กซี่ อาทิ สติกเกอร์ที่มีข้อความว่า “รถคันนี้ได้มาตรฐานต้านหวัด 2009” “แท็กซี่ อาสาสู้หวัด” “โปรดอย่าลืมเชื้อหวัดทิ้งไว้ในรถ” โดยนายวิทยาได้ขึ้นขับแท็กซี่ โดยมีนายมานิตนั่งที่เบาะผู้โดยสารหน้า นพ.มงคล และ นพ.วิฑิต นั่งที่เบาะผู้โดยสารด้านหลัง โดยนายวิทยาได้ขับแท็กซี่คันดังกล่าวเพื่อนำขบวน “แท็กซี่ไทยปลอดภัย รวมพลังสู้หวัด 2009” จำนวน 255 คัน รณรงค์ออกจากจากกระทรวงสาธารณสุข