ไม้สักทองที่ขึ้นรูปอยู่ในมือ เริ่มปรากฏให้เห็นเค้าโครงใบหน้าคนชัดเจนขึ้น เมื่อ “คำจันทร์ ยาโน” บรรจงลงมีดแกะรายละเอียดใบหน้าลงไปในเนื้อไม้อย่างแม่นยำ และประณีต
“สล่า” คือ คำพื้นเมืองที่แปลว่า “ช่าง” ซึ่งชาวบ้านบ้านถ้ำผาตอง ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ใช้เรียกนำหน้าชื่อ ของครูคำจันทร์ ที่มีฝีมือเชิงช่างแกะสลักไม้ กระทั่งได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 5 ในสาขาอุตสาหกรรม และหัตถกรรม (แกะสลักไม้)
สล่าคำจันทร์ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เดินเข้าสู่เส้นทางสายช่างแกะสลักไม้ว่า ได้เห็นผลงานของคุณตาที่เป็นช่างแกะสลักไม้มาก่อน โดยงานที่คุณตาทำส่วนใหญ่จะเป็นงานแกะสลักด้ามกระบวยตักน้ำ ผูกเป็นเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้านทั่วไป ต่อมาได้ทดลองทำตามที่คุณตาทำไว้
“กระทั่ง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ท่านมาเห็น ท่านก็บอกว่าน่าจะทำเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตดูบ้าง แต่ก็กลัวว่าไม่มีคนซื้อ แต่ อาจารย์ถวัลย์ บอกว่า ทำออกมาเถอะ เดี๋ยวจะซื้อเอง แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดจะยึดเป็นอาชีพจริงจัง กระทั่งในปี 2549 ทำนาแล้วประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ก็เลยหันมาแกะสลักด้ามกระบวยตักน้ำอย่างจริงจัง”
เมื่อเริ่มแกะสลักงานไม้จนชำนาญ มีรายได้จากการจำหน่ายไม้แกะสลัก เพื่อนบ้านก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น สล่าคำจันทร์ จึงได้ฝึกสอนการแกะสลักไม้ให้กับชาวบ้านที่สนใจ เป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนทางหนึ่ง
“ครูคิดว่างานแกะสลักไม้มันน่าจะเคลื่อนไหวได้ เพื่อให้ดูมีชีวิต ชีวาขึ้นมา และเพิ่มคุณค่าให้กับชิ้นงาน ก็เริ่มทดลองทำกลไกให้เคลื่อนไหว เช่น ด้ามกระบวยตักน้ำ เราแกะเป็นคนตำข้าว คนเลื่อยไม้ ทำกลไกให้เคลื่อนไหว ต่อมาก็เริ่มทำเป็นชิ้นงานใหญ่ขึ้น เช่น บ้านพอเพียงที่จำลองทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง มีทั้งคนทำนา นวดข้าว หาปลา เป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้จริง พอเริ่มทำกลไกเข้ามา คนเข้าชมก็ใช้มือหมุน เราก็เริ่มคิดว่าน่าจะเอาเครื่องมือทุ่นแรงใส่เข้าไป เพื่อให้เคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องใช้แรง ก็เริ่มนำมอเตอร์มาติดตั้งเข้ากับชิ้นงาน ทำให้งานชิ้นใหญ่ๆ เคลื่อนไหวได้ทั้งหมด คนที่มาดูงานก็ชอบใจ และทำให้งานแกะสลักไม้ของเรามีเอกลักษณ์”
สล่าคำจันทร์ ยังได้ประยุกต์นำเครื่องหยอดเหรียญมาใช้กับงานแกะสลัก เมื่อผู้ชมหยอดเหรียญ หุ่นไม้แกะสลักก็จะเริ่มเคลื่อนไหวแสดงวิถีชีวิตอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งงานแกะสลักไม้ชุดบ้านพอเพียงของสล่าคำจันทร์ ได้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ในงานพืชสวนโลกที่ จ.เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพมาแล้ว และหลังจากแคะตู้หยอดเหรียญ ก็พบว่าในตู้มีเงินนับแสนบาทจากการจัดแสดงในครั้งนั้นทีเดียว และงานชุดดังกล่าวยังเคยนำไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มาแล้ว
“ปัจจุบันก็มีทั้งชาวบ้านและนักเรียนมาเรียนแกะสลักไม้ ซึ่งเด็กๆ จะมาเรียนช่วงปิดเทอมส่วนใหญ่ แต่ครูอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีครูพื้นบ้าน ไม่เฉพาะงานแกะสลักไม้ แต่งานช่างอื่นๆ ที่เรามีช่างชำนาญอยู่หลายขนานให้ไปสอนในโรงเรียน และสอนต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กทำได้จริงและมีการพัฒนาฝีมือสม่ำเสมอเพราะบางคนมีแวว แต่ขาดช่วงพอเปิดเทอมก็ไม่ได้มาทำต่อ หรือบางโรงเรียนเชิญไปสอนก็เป็นช่วงสั้นๆ ไม่ปะติดปะต่อ ทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาฝีมือ”
ส่วนของชาวบ้าน สล่าคำจันทร์ บอกว่า ได้มีการจัดตั้งกลุ่มแกะสลักไม้บ้านถ้ำผาตองขึ้นในชุมชน มีสมาชิกเข้าร่วมอยู่ 27 คน แต่ละคนมีรายได้เฉลี่ย 4,500 บาทต่อเดือน เพราะจะมีออเดอร์สั่งเข้ามาจากต่างประเทศโดยตลอด โดยเฉพาะงานแกะสลักช้างไทย ส่วนคนไทยจะนิยมพระพุทธรูป พระสีวลี และ พระปางนาคปรกที่แกะสลักจากไม้มงคล 5 ชนิด ถือว่ามีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง
สำหรับผู้ที่สนใจงานแกะสลักไม้นั้น สล่าคำจันทร์ สอนให้โดยไม่คิดค่าวิชาโดยเฉพาะเด็กรุ่นหลังที่สล่าคำจันทร์อยากให้มาเรียนกันมากๆ เพราะงานแกะสลักไม้เป็นศิลปะไทยที่ควรมีคนสืบทอดต่อไป
สล่าคำจันทร์ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีแนวคิดจะตั้งพิพิธภัณฑ์ล้านนาในที่ดินส่วนตัวพื้นที่ 5 ไร่ โดยพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นหม้อน้ำขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 21 เมตร สูงเท่าตึก 9 ชั้น ภายในจัดแสดงเครื่องมือเกี่ยวกับวิถีชีวิตล้านนา พร้อมจัดแสดงชิ้นงานแกะสลักไม้ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ สะท้อนชีวิตชาวเหนือ โดยสล่าคำจันทร์ตั้งใจให้เป็นจุดท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย ที่จะสร้างรายได้เลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่ เพราะถือเป็นสมบัติของคนเชียงราย