xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จับมือจุฬาฯ สังคายนาแผงลอยย่านสีลม หวังเพิ่มจุดขายท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กทม. จับมือจุฬาฯ สุขาภิบาลอาหาร ออกมาตรการดูแลร้านอาหาร แผงลอยเข้ม หวังสร้างเสน่ห์ถนนสีลม กำหนดมาตรการใหม่ห้ามล้างภาชนะบนทางเท้า หากเจ็บป่วยให้หยุดขาย เพิ่มความมั่นใจให้ทั้งชาวไทยและต่างประเทศในการบริโภคอาหารในร้านอาหารและอาหารริมบาทวิถีย่านสีลม นำร่องให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล

วันนี้ (24 ส.ค.) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยพญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวเปิดโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารของสถานประกอบการอาหาร บริเวณถนนสีลม เขตบางรัก ซึ่งมีตัวแทนร้านอาหาร แผงลอยย่านสีลมประมาณ 200 คน เข้าร่วมงาน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม.โดยสำนักอนามัย ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารของสถานประกอบการอาหารบริเวณถนนสีลม เขตบางรักขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยบนถนนสีลม หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขลักษณะของสถานที่ สุขอนามัยของการประกอบการปรุง และการจำหน่ายอาหาร รวมทั้งการคัดเลือกอาหารที่ปราศจากสารเคมีและสิ่งปลอมปนมาประกอบปรุงอาหาร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นในการบริโภคอาหารว่ามีความปลอดภัย สะอาด และถูกสุขลักษณะ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย ในการควบคุม เฝ้าระวังและส่งเสริมสถานประกอบการอาหารให้ได้มาตรฐาน โดยคาดว่าการยกระดับมาตรฐานการจำหน่ายอาหารบนถนนสีลมให้มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการบริโภคอาหารในพื้นที่กทม. ที่มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากลได้ และภายในสามเดือนนี้จะมีการสุ่มตรวจสถานประกอบการอาหาร บริเวณถนนสีลมและมอบเครื่องหมายว่าร้านมีความปลอดภัยจากทางกรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการดังกล่าวจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ย่านถนนสีลมกว่า 150 แห่ง ดำเนินการภายในเดือน ส.ค.-พ.ย.2552 ในการให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดในร้านอาหารอย่างสม่ำเสมอ และการคำนึงถึงสุขลักษณะในการประกอบอาหาร โดยการล้างมือบ่อยๆ ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร รวมถึงชั้นวางอาหารควรจะสูงจากพื้น 60 เซนติเมตร และหยุดขายเมื่อเจ็บป่วย หรือมีอาการเป็นไข้ ไอ จาม ท้องเสีย เพื่อช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรกลงสู่อาหาร ลดอัตราการแพร่เชื้อและการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ เพื่อสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังกำหนดให้ การจำหน่ายอาหารแผงลอยบนถนนสีลม ซึ่งเป็นย่านนำร่องของโครงการดังกล่าว ห้ามล้างภาชนะ จาน ชามบนทางเท้า เนื่องจากจะทำให้ทางเท้าสกปรกมีคราบไขมัน และเมื่อมีการล้างจานชาม จะทำให้มีเศษอาหารและไขมัน ตกลงไปในท่อระบายน้ำ กลายเป็นแหล่งอาหารของหนูและแมลงสาบ ซึ่งเป็นสัตว์พาหะนำโรคต่างๆ มาสู่คนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น