แม้มีการปราบปรามครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่ปี ที่ผ่านมา ทว่า ตั้งแต่ปี 2551 สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยมีแนวโน้มกลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน
จากการเปิดเผยข้อมูลของหลายหน่วยงาน ชี้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่ควรเฝ้าระวัง คือ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี กลุ่มว่างงาน และรับจ้าง หรือแม้แต่ข้อมูลที่ทางคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาเปิดเผยถึงภาวะสังคมในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2551 ว่า
มีคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง ร้อยละ 43 ที่สำคัญ เป็นคดีที่เกี่ยวกับยาบ้าถึงร้อยละ 66 ซึ่งสอดรับกับการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า ยาเสพติดแพร่ระบาดสู่สถานศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.5 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 34 ในปี 2551
ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นภาพสถานการณ์ยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะยาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดที่แซงโค้งนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง และสถานศึกษากลายเป็นทั้ง สถานที่เสพ และซื้อขายโดยนักเรียนผู้เสพจะพัฒนาเป็นนักค้ารายย่อย และนักเรียนหญิงจะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องทั้ง ในฐานะผู้เสพผู้ติดยา และผู้ค้า อีกทั้งยังมีอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังผลงานวิจัยของหน่วยวิจัยยาเสพติดและผลกระทบทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจเด็กและเยาวชน 4 จังหวัด
น่าสังเกตว่า ขณะที่ ยาบ้า เป็นยาเสพติดที่มาแรงที่สุดในกลุ่มเยาวชน รองลงมาเป็นกัญชา และยาไอซ์
แต่ถึงกระนั้น เมื่อโฟกัสไปเฉพาะกลุ่มเยาวชนหญิง จะพบว่า ยาไอซ์ ซึ่งเป็นยาเสพติดอันดับสุดท้ายกลับเป็นยาเสพติดชนิดเดียวที่เด็กผู้หญิงติดมากกว่าเด็กผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม แม้ยาไอซ์ เหมือนเป็นยาเสพติดนอกสายตา และฤทธิ์ไม่แรงเท่ายาบ้า แต่ขึ้นชื่อว่ายาเสพติด ย่อมทำลายกายใจ ซึ่งเป็นเสมือน “ต้นทุน” ของสังคมไทย ตั้งแต่ต้นทางที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม
บทความโดย : รายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ.2552
สืบค้นได้จาก http://www.hiso.or.th