“อภิสิทธิ์” จี้ทบทวนระบบแอดมิชชัน ชี้ไม่ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา ทำเด็กมุ่งเรียนเด็กเพื่อทำคะแนนให้ได้ดีเท่านั้น ระบุ การที่เด็กสายวิทย์สอบได้แต่เรียนไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงระบบคัดเลือกที่ผิดพลาด ให้เวลารื้อใหม่ภายใน 3 ปี
เมื่อวันที่ (20 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดงานธรรมศาสตร์วิชาการ'52 และแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อนาคตประเทศไทย” ที่อาคารยิมเนเซียม 1 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งนี้ ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนา “อนาคตประเทศไทย” ได้มีการนำคำถามจากนักเรียนนักศึกษาที่เขียนขึ้นมาถามนายกรัฐมนตรี ด้วย โดยนักเรียนมัธยมรายหนึ่งถามว่า นายกฯ มีวิธีการแก้ไขปัญหาการศึกษาให้เด็กไทยมีความรู้แน่นเทียบเท่านานาชาติอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าถามตนพื้นฐานจริงๆ เด็กไทยไม่เป็นรองใคร จะเห็นว่า เพื่อนๆ เราไปได้รางวัลเยอะแยะ ดังนั้น คนไทยไม่ได้เป็นรองใคร แต่ปัญหาเป็นเรื่องของการได้รับโอกาสและคุณภาพ ทั้งนี้ โอกาสก็ดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว เพราะรัฐบาลก็ผลักดันเรื่องของการเรียนฟรี แต่ยังมีปัญหาบางจุดก็เร่งรัดสะสางเพื่อให้นักเรียนได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน สำหรับชั้นอุดมศึกษาในเรื่องของให้ทุนกู้ยืม ก็กำลังมีการขยายอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเรื่องของคุณภาพการศึกษา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ร่วมผลักดันมาเป็นเวลา 10 ปี แต่ปัญหาคือระบบของเราคือให้ทุกคนมาแข่งขัน โดยทำสิ่งเดียวกันคือมุ่งเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้ส่งเสริมให้ค้นพบว่าจะทำอะไร ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กและเด็กประถมไม่ควรเรียนมากแบบนี้ ควรให้อยู่กับเพื่อน ให้เรียนรู้มากกว่านี้นอกห้องเรียน
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นนักเรียนโรงเรียนอีตั้นจากอังกฤษมีกลเม็ดอย่างไรแนะนำ นายกฯ กล่าวว่า ต้องไม่ยัดเยียดเนื้อหาเพราะมากไป ส่วนระดับมัธยมต้องทำให้รู้ว่าตัวเองมีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร อยากเป็นวิศวกรหรือศิลปิน ซึ่งเรื่องนี้ระบบต้องตอบสนองตรงนั้น แต่ต้องทำและตั้งใจจะทำต่อไปแม้จะต้องอาศัยเวลาพอสมควร
นายกฯ กล่าวอีกว่า ขอให้ทบทวนเรื่องเปลี่ยนระบบสอบเข้าให้เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังไม่ดี เพราะตนติดตามดูตั้งแต่การมีการเปลี่ยนมาเป็นแอดมิชชัน โดยเฉพาะกับเด็กสายวิทย์ ซึ่งเด็กที่เข้าไปเรียนมีปัญหา เรียนไม่ได้ แสดงว่าระบบสอบคัดเลือกมันผิด อันนี้เป็นตัวตั้งสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง
“อยากจะสะสางและให้มีผลภายใน 3 ปี เพราะเด็กที่ขึ้น ม.4 ก็จะได้รู้กติกา ขอให้ดูตรงนี้อย่างจริงจัง เพราะนอกจากไม่ตอบสนองการศึกษายังส่งผลต่อระดับประถม และมัธยม ถ้ายังสอบแบบนี้ก็ยังติดในกับดัก เพราะเด็กจะทำเพื่อไปสอบคัดเลือกให้ได้คะแนนดีเท่านั้น”นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า ระบบการศึกษาของไทยจะเป็นเช่นใด จะมีคุณภาพและมั่นคงโดยไม่ใช้นักเรียนเป็นสิ่งทดลองได้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า มหาวิทยาลัยทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแบบถูกบ้าง ผิดบ้างแต่ไม่มีเจตนาจะให้นักเรียนเป็นหนูทดลอง แต่ทำไปเพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นดีและถูกต้องแล้ว แต่มันจะต้องเป็นอุทธาหรณ์ว่าผู้วางแผนปฏิรูปต้องคิดให้รอบคอบ ตนบอกไปแล้วว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี มันแสดงถึงความล้มเหลวที่ทำกันมา
ส่วนเมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่นักเรียนพูดว่าเรียนพิเศษดีกว่าเรียนในโรงเรียน นายกฯกล่าวว่า ถือว่าเป็นตัวสะท้อนการศึกษาที่ดี สำหรับที่บอกว่าเรียนที่โรงเรียนไม่ได้รับการดูแลที่ดี อาจเป็นเพราะบางโรงเรียนมีปัญหาด้านบุคลากร งบประมาณ ทำให้นักเรียนเหล่านั้นต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม แต่ก็มีปัญหาอีกว่าอาจารย์บางคนสอนในโรงเรียนธรรมดาแล้วไปสอนพิเศษอีก และมีมาตรฐานการสอนแตกต่างกัน ซึ่งต้องถามว่าเป็นเพราะอะไร
“ผมมีลูกสาวและความจริงก็ไม่อยากให้ไปเรียนพิเศษ แต่โรงเรียนเปลี่ยนระบบ 1-2 ครั้งก็ต้องไปเรียนพิเศษ และได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง หลายคนมองว่าไปเรียนพิเศษแล้วนอกจากได้เนื้อหาสาระมากกว่าแล้วยังมีความสนุกสนานมากกว่าด้วย มัน เป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาว่าทำไมโรงเรียนจึงทำไม่ได้ ตนไม่อยากให้เด็กไปเรียนพิเศษเพราะเชื่อว่าเด็กของเราใช้เวลานั่งในห้องเรียนมากเกินไป ตรงนี้เป็นตัวฟ้องว่าทำไมจึงต้องปฏิรูปการศึกษาและจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กพึ่งการเรียนพิเศษน้อยลง” นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ได้คัดเลือกบุคคลที่จะไปดำเนินการวางโครงสร้างการสอบแอดมิชชันไว้แล้ว โดยบอกไปว่า ต้องเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาเรียน ต้องเป็นระบบที่ไม่เป็นภาระสำหรับผู้ปกครองที่มากจนเกินไป แต่ตนกลัวว่าระบบแอดมิชชันหลักเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้ว เพราะมีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มหันไปรับนักศึกษาในระบบสอบตรงมากขึ้น ทำให้มีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายและยังมีปัญหาด้านการจัดการเพราะต้องสอบพร้อมกัน เมื่อสอบพร้อมกันก็มีคนเข้าสอบเยอะ ตรงนี้คือโจทย์ที่ให้คณะปฏิรูปไปดู