xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคาร พรมใย...“ผมรักโขน ผมจะเป็นครูสอนโขนครับ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษโดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

“ผมเรียนไม่เก่ง แต่ผมรักโขน”
เสียงจาก “ธนาคาร พรมใย” หรือ น้องแบงค์ เด็กชายวัย 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 จากโรงเรียนนาฏศิลปกรุงเทพ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บอกหลังจากชั้นเรียนฝึกซ้อมโขน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในยุคที่ “โขน” ค่อยๆ ห่างหายไปจากความทรงจำและความสนใจของคนไทยไปทีละน้อย กระทั่งเพิ่งจะกลับมาตื่นตัวกันอีกครั้งหลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์แสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

แบงค์ ขณะแสดงท่าหนุมาน
แบงค์ เล่าย้อนถึงความประทับใจแรกในศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ชาติว่า รู้จักและรักโขนตั้งแต่ชั้น ป.5 ซึ่งตอนนั้นเขาอยู่ในฐานะผู้ชม และเคยเข้าค่ายฝึกโขนมาบ้างเท่านั้น แต่พลันที่หนุมานทหารเอกของพระรามปรากฏกายบนเวที ได้ตรึงความฝันของเด็กชายคนหนึ่งไว้ที่ “วันหนึ่งต้องเล่นโขนและจะเป็นหนุมานให้ได้”

หลังจากเรียนจบ ป.6 จากโรงเรียนสมิทธิพงษ์ กรุงเทพฯ แบงค์ก็สอบเข้าที่วิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพทันที ซึ่งด้วยความที่รูปร่างเล็ก การเคลื่อนตัวคล่องแคล่ว และลีลาตีลังกาของแบงค์ทำให้มักจะได้บทลิงเสมอๆ

“การได้รับบทใดๆ ก็ตามรูปร่างมีส่วนสำคัญมาก ผมตัวเล็ก เคลื่อนที่ไว ตีลังกาได้ก็จะได้ฝึกบทลิงก่อน แต่ยังไม่ได้บทหนุมาน ส่วนเพื่อนที่ตัวใหญ่ก็จะได้ฝึกบทยักษ์ ตั้งแต่ ม.1 ผมก็เป็นเขนลิง หรือทหารลิงมาก่อน”

เมื่อเรียนโขนมาระยะหนึ่งนักเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป์จะต้องออกแสดง ซึ่งงานแรกที่แบงค์ประเดิม คือ งานศพ งานเลี้ยงรุ่น งานเลี้ยงส่งข้าราชการเกษียณ ตามลำดับ ซึ่งหน้าที่ที่แบงค์มักได้รับคือบทที่เขาฝันนั่นคือหนุมานโดยล่าสุดในโขนชุดศึกพรหมาสตร์ ซึ่งเป็นการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น แบงค์เป็น 1 ใน 100 นักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในบทเขนลิงบริวารของหนุมาน นับเป็นประสบการณ์ครั้งที่ยากจะลืมสำหรับเด็กชายวัย 14 ปี

“รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในงานเทิดพระเกียรติ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากครั้งหนึ่งในชีวิต ผมได้เห็นฉาก แสง สี เสียงที่อลังการ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในวงการโขนที่ยิ่งใหญ่ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงใส่พระราชหฤทัยในศิลปะการแสดง” หนุ่มแบงค์ แสดงความปลาบปลื้ม

แบงค์ บอกว่า จากกระแสต่างๆ พอแสดงให้เห็นได้ว่าคนเริ่มหันมาสนใจการแสดงโขนมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน นักแสดงโขนรุ่นเยาวชนที่มุ่งหมายจะเป็นมืออาชีพนั้นมีน้อยลง เห็นได้จากชั้นเรียน ม.2 ที่เรียนอยู่ มีผู้เรียนเพียง 17 คนเท่านั้น

“เท่าที่เห็นคือ มีคนสนใจมากขึ้น พ่อแม่พาลูกหลานเรียนพิเศษก็มากขึ้น แต่การฝึกหนักของวิชาการแสดงโขนทำให้เด็กหลายคนถอดใจ ลาออกไปเรียนอย่างอื่นก็มี ทำให้คนที่ตั้งใจจะเป็นนักแสดงอาชีพหรืออยู่ในวงการโขนจริงๆ มีน้อย” แบงค์ บอกและว่า สำหรับเขาไม่เพียงจะตั้งใจเรียนโขนอย่างจริงจังเท่านั้น แต่จะทำหน้าที่สืบทอดวิชาศิลปะการแสดงแขนงนี้ให้นานเท่าที่จะทำได้ โดยในระหว่างนี้จะเร่งฝึกซ้อมเพื่อเข้าคัดเลือกตัวสำหรับชุดการแสดงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกรมศิลปากรจะจัดแสดงในชุดศึกพรหมาสตร์และศึกพระอาทิตย์ที่โรงละครแห่งชาติในเดือนธันวาคมนี้เสียก่อน

ส่วนอนาคต แบงค์บอกสั้นๆ เพียงว่า “ผมตั้งใจจะเป็นครูสอนโขนครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น