พม.เปิดลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รอบ 2 ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ส.ค. ก่อนโอนเงิน 500 บาทเข้ากระเป๋าภายใน 1 ต.ค.นี้ พร้อมแก้ประกาศกระทรวงฯ สนับสนุนค่าจัดการศพผู้สูงอายุทุกคนรายละ 2,000 บาท ขณะที่เตรียมจ่ายเบี้ยความพิการแก่ผู้พิการให้ได้ทุกคนเริ่มต้นปี 53
วันนี้ (17 ส.ค.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พม.กำหนดเปิดรับลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรอบ 2 ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 30 ก.ย.2552 หรือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 ต.ค.2492 รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่ครบ 60 ปีและไม่ได้ลงทะเบียนรอบแรกได้ลงทะเบียนด้วยเช่นกัน โดยสามารถลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท ได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือสำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิภายในวันที่ 15 ก.ย. และรับเงินได้ในวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2552 มีผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพไปแล้วทั้งสิ้น 5,963,089 คน
นายอิสสระกล่าวต่อว่า ตนได้รับข้อร้องเรียนมาว่ายังมีผู้สูงอายุซึ่งมีสิทธิตั้งแต่รอบแรกแต่ยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งขอยืนยันว่า พม.ได้โอนงบประมาณให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิไปแล้ว แต่ความล่าช้าอยู่ที่ อปท.บางพื้นที่กั๊กไว้ ไม่ยอมจ่าย ซึ่งคงต้องกำชับไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ช่วยดูแล และหากพื้นที่ใดยังมีปัญหาจ่ายเงินล่าช้าหรือยังไม่ได้รับ หรือมีการหักค่าหัวคิวใดๆ ขอให้ร้องเรียนมายังศูนย์ประชาบดี โทร.1300 หรือร้องเรียนที่ตนโดยตรง อย่างไรก็ตาม ตนมีแนวคิดที่จะให้มีการจ่ายเงินผ่านธนาคารรัฐโดยตรงไม่ต้องผ่าน อปท.เพื่อแก้ปัญหาการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งจะหาทางพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่อไป
นายอิสสระกล่าวอีกว่า พม.ได้แก้ไขประกาศ กระทรวงฯ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทยทุกคนได้รับสิทธิค่าจัดการศพรายละ 2,000 บาท เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2552 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามข้อมูลจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2553 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 7,639,000 คน และสถิติข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ระบุโดยเฉลี่ยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตปีละประมาณร้อยละ 3.4 คาดว่าในปี 2553 จะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตประมาณ 259,726 คน
ทั้งนี้ พม.ได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าจัดการศพในปี 2553 แล้วจำนวน 22,063 คน เป็นเงิน 44,126,000 บาท จึงยังมีผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเสียชีวิตและมีคุณสมบัติต้องได้รับความช่วยเหลืออีก 237,663 คน พม.จึงได้ขอแปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 วงเงิน 475,326,000 บาท เพื่อเป็นค่าจัดการศพผู้สูงอายุจำนวน 237,663 คน นอกจากนี้ยังได้ขอสนับสนุนงบประมาณกลางปี 2552 วงเงิน 40,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าจัดการศพผู้สูงอายุจำนวน 20,000 คนระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ คาดว่าจะสามารถรองรับการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าวได้
“บุตร หรือญาติผู้สูงอายุที่เสียชีวิตที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ให้นำหลักฐาน ประกอบด้วยสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาใบมรณบัตร สำเนาทะเบียนบ้านของผู้สูงอายุและผู้ยื่นคำขอ ติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด หรือที่ อบต.ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตกรุงเทพฯ ติดต่อที่ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชนทั้ง 12 เขต หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์ประชาบดี โทร.1300” รมว.พม.กล่าว
นายอิสสระกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้พิการทุกคนโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะให้เบี้ยความพิการกับผู้พิการทุกคนที่ขึ้นทะเบียนและมีสมุดประจำตัวตั้งแต่ต้นปี 2553 โดยมอบหมายให้ พม.สำรวจจำนวนผู้พิการที่ยังไม่ได้เบี้ยความพิการและรณรงค์ให้มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้รัฐบาลได้จ่ายเบี้ยความพิการให้ไปเพียง 2.6 แสนคน ขณะที่ผู้พิการมีกว่า 1 ล้านคน ซึ่งต้องเร่งรณรงค์ให้ผู้พิการมาขึ้นทะเบียน โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเฉพาะที่ พมจ.เท่านั้น แต่สามารถขึ้นละเบียนได้ที่ อปท.และโรงพยาบาลทุกแห่ง