ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนรับรองให้เอกสารสำคัญของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ถือเป็นชิ้นที่ 2 ของไทย หลังจากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้า “คุณหญิงแม้นมาส” เผยเอกสาร 8 แสนชิ้น ในสมัย ร.5 แสดงให้เห็นถึงนโยบายและการเปลี่ยนแปลงสำคัญของสยาม
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานในเช้าวันนี้ (31 ก.ค.) ว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองให้เอกสารสำคัญของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the world) ที่ประเทศบาร์เบโดส ระหว่างวันที่ 29-31 ก.ค. 2552 ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยแผนงานมรดกความทรงจำแห่งโลก ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ที่มีคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นประธาน เป็นผู้นำเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
รองปลัด ศธ.กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ศธ.ได้เสนอให้ ม.ร.ว.รุจยา อาภากร กรรมการในคณะกรรมการว่าด้วยแผนงานมรดกความทรงจำโลกของไทยเป็นผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมด้วย และ ศธ.ได้รับรายงานจาก ม.ร.ว.รุจยา ว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีมติให้ขึ้นทะเบียนเอกสารดังกล่าวเป็นมรดกความทรงจำโลก และได้รับการรับรองจากยูเนสโกแล้ว สำหรับการเสนอเอกสารสำคัญของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกความทรงจำของโลกนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการแผนงานว่าด้วยมรดกความทรงจำแห่งโลกได้เสนอให้ยูเนสโก พิจารณาเมื่อเดือน มี.ค.2551 และได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ของยูเนสโกมาตั้งแต่ต้น จนถึงการนำเสนอในขั้นตอนสุดท้ายในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลก ที่ประเทศบาร์เบโดส ในวันที่ 30 ก.ค. ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสยาม เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
“เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ดีงามให้แก่เด็ก เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายที่ทันสมัยตั้งแต่อดีตกาล อีกทั้งการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ก็จะทำให้เด็กไทยได้รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยด้วย นอกจากขอชวนเชิญคนไทยที่มีเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ พระราชหัตถเลขาพระราชทาน ก็ขอให้ช่วยกันจัดส่งมาไว้รวมกันเพื่อเผยแพร่ โดยอาจจะจัดทำเป็นรูปแบบสำเนาส่งมาก็ได้” นางศรีวิการ์ กล่าว
ด้านคุณหญิงแม้นมาส กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวประกอบด้วยเอกสารการเลิกทาสและเอกสารอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้กรุงสยาม ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ทำให้ประเทศสามารถอยู่ในความสงบได้อย่างดี ได้แก่ 1.ระบบการจัดการศึกษา 2.ระบบการสาธารณสุข 3.ปรับปรุงสาธารณูปโภค ระบบการไปรษณีย์โทรเลข 4.ระบบคมนาคม การรถไฟ 5.จัดระบบการบริหารราชการ เปลี่ยนจากเวียง วัง คลัง นา เป็น 12 กระทรวง 6.การปฏิรูประบบเศรษฐกิจทั้งหมด การจัดเก็บภาษีเป็นระบบมากขึ้น และจัดตั้งกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรก 7.จัดระบบประปา ไฟฟ้าให้ทั่วถึง และ 8.พระอัจฉริยะของพระองค์ด้านวรรณกรรม อาทิ พระราชนิพนธ์เงาะป่า ไกลบ้าน เป็นต้น
คุณหญิงแม้นมาส กล่าวอีกว่า เอกสารต้นฉบับทั้งหมดมีจำนวน 800,000 หน้า เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และห้องสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นเอกสารที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นสื่อสัมพันธ์กับประเทศที่เจริญแล้วได้ทั้งโลก ซึ่งเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนจากมรดกแล้ว จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการดูแลรักษา รวมทั้งพยายามเผยแพร่เอกสารไปสู่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งหลังการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกแล้ว ก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่5 เป็นเอกสารของประเทศไทยชิ้นที่ 2 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลก ภายหลังจากที่ยูเนสโกได้ประกาศให้ศิลาจารึกหลักที่1 ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2546 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการประกาศเป็นบุคคลสำคัญแห่งโลก ที่ยูเนสโกร่วมเฉลิมฉลองเมื่อปี 2544
**วธ.เตรียมจัดห้องโสตฯ+สื่อดิจิตอล 2 ภาษาแจกสถาบันการศึกษา
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยว่า การประกาศให้เอกสารสำคัญของการปฏิรูปราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นมรดกแห่งความทรงจำโลกนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของคนไทย เพราะเอกสารดังกล่าวนอกจากจะบันทึกเหตุการณ์สำคัญคือการเลิกทาสแล้ว ยังถือเป็นการบันทึกเหตุการณ์การยกเลิกการพนันการปฎิรูปและการส่งเสริมการเกษตร ระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการค้า และการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในรัชกาลที่ 5 รวมถึงสะท้อนภาพภารกิจของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในยุคสมัยนั้น อาทิ กรมโยธาธิการที่ดูแลการคมนาคม แผนที่ และการรถไฟการต่างประเทศ และการทำสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น
“การเลิกทาสในประเทศไทยมีจุดเด่นไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ รวมทั้งเนื้อหาของเอกสารมีความสมบูรณ์ โดยในส่วนของวธ.จะจัดทำห้องโสตทัศนศึกษาของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะที่หอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้จะทำเป็นระบบเอกสารดิจิตอล 2 ภาษาคือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ และจะทำซีดีแจกสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับจดหมายเหตุการเลิกทาส โดยคาดว่าจะมีการจัดสัมมนาทางวิชาการในเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้ด้วย” รมว.วัฒนธรรม กล่าว