xs
xsm
sm
md
lg

โวยราชบัณฑิตเปลี่ยนคำย่อ “โรงเรียน” ใช้ “รร.” เหมือน “โรงแรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการด้านวรรณกรรมโวยราชบัณฑิต เปลี่ยนคำย่อ “โรงเรียน” เป็น “รร.” ตัวเดียวกับ “โรงแรม” จวกไม่มีมาตรฐาน ทำคนสับสน และไม่สร้างประโยชน์ จี้สำนักนายกฯ-ศธ.ดูแลหลักสูตรภาษาไทยให้เข้มข้น ด้านราชบัณฑิตแจงเปลี่ยนตัวย่อโรงเรียนไม่สับสน ขณะที่ “เนาวรัตน์” แนะการใช้อักษรย่อต้องทำให้แตกต่างเพื่อความเข้าใจตรงกัน ชี้นำโรงเรียนเข้ากลุ่มเดียวกับพุทธศักราชก็ได้

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายวัฒนะ บุญจับ นักวิชาการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ราชบัณฑิตยสถานมีแนวคิดจะทำพจนานุกรมคำย่อออกเผยแพร่โดยผ่านเว็บไซต์ของราชบัณฑิต โดยหลักเกณฑ์ในข้อที่ 3 ว่าด้วยคำประสม หากต้องใช้อักษรย่อให้ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำ เช่น โรงเรียน ย่อว่า รร. ซึ่งความหมายที่คุ้นเคยกันนั้น คือ ร.ร. ส่วน รร.หมายถึง โรงแรม และเมื่อมีผู้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังราชบัณฑิต ทราบว่ามีการกำหนดให้ทั้งคำว่า โรงเรียน และโรงแรม ย่อเป็น รร.ทั้งสองคำ อย่างไรก็ตาม สำหรับการแยกแยะความหมายของทั้ง 2 คำให้สังเกตคำบริบทแวดล้อม

“ถ้าอยากรู้ว่า รร.ไหนเป็นโรงเรียนหรือโรงแรม ให้ดูความรอบข้างที่เขาเรียกกันว่าบริบทเอาเอง ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าหากมีข่าวพาดหัวว่า “นร.ใช้ รร. เป็น รร.” แล้วจะให้แปลว่าอะไรดีเหมือนกัน” นายวัฒนะกล่าว และว่าเป็นที่น่าสังเกตในเกณฑ์ข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นคำที่ใช้กันมาก่อนแล้ว เช่น ตำบล ย่อ ต. รองศาสตราจารย์ ย่อ รศ. และพุทธศักราช ย่อ พ.ศ. ยิ่งทำให้เกิดความสับสนว่าใช้หลักเกณฑ์ใดมากำหนดขอบเขตของการยกเว้น

“คำว่า พุทธศักราช ซึ่งเพิ่งกำหนดใช้อย่างเป็นทางการในรัชกาลที่ 6 หลังการให้กำเนิดโรงเรียนในรัชกาลที่ 5 เสียอีก แต่ราชบัณฑิตกลับประกาศให้เปลี่ยนคำย่อของโรงเรียนจาก ร.ร. เป็น รร. แต่พอเป็นพุทธศักราช กลับคงใช้ พ.ศ.ตามเดิม โดยบอกว่ายกเว้นให้เพราะเป็นตัวที่ใช้กันมาก่อนแล้ว น่าสงสารคนไทยที่ต้องถูกบังคับให้เชื่อราชบัณฑิตยุคนี้เสียจริงๆ”

นักวิชาการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กล่าวอีกว่า การตั้งกติกาเกี่ยวกับคำย่อของราชบัณฑิตหากพิจารณาให้รอบคอบแล้วจะเห็นว่ายังลักลั่น ไม่มีมาตรฐาน อีกทั้งยังไม่สร้างประโยชน์อันใดให้กับคนในสังคมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตนขอตำหนิหน่วยงานนี้ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และสถาบันภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยของเยาวชนไทยทั้งประเทศ

ด้านนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกำหนดจุดในการเขียนคำย่อรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะคำว่า “โรงเรียน” จากเดิมย่อว่า ร.ร.เปลี่ยนเป็น รร. ซึ่งไปซ้ำกับ รร. ที่ย่อมาจากคำว่า “โรงแรม” นั้น ไม่น่าจะสร้างความสับสนในการใช้ภาษา เนื่องจากสามารถใช้บริบทแวดล้อมในการสื่อความหมายได้ เพราะเราจะรู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้คำกล่าวนั้น รวมทั้งจะมีคำบริบทแวดล้อมเป็นตัวช่วยบอกว่าคำดังกล่าว

ขณะที่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2536 และกวีซีไรต์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาของคำที่มีตัวย่อซ้ำกันในลักษณะเดียวกับคำว่า โรงเรียน (รร.) กับ โรงแรม (รร.) นั้น คงจะมีไม่มาก ซึ่งหากจะใช้บริบทช่วยบอกความหมายจะต้องทำได้จริง โดยส่วนตัวเห็นว่าควรมีทางแก้ปัญหาวิธีอื่นเพื่อให้ตัวย่อของคำ 2 คำนี้มีความแตกต่างกัน

“วิธีแก้ปัญหาอาจทำได้หลายอย่าง คือ เอาชื่อโรงแรมไว้ก่อนตัวย่อ รร. และกรณีเป็นชื่อโรงเรียนให้เอาตัวย่อไว้ด้านหน้าตามเดิม หรืออาจยกคำว่า โรงเรียน ให้เป็นกรณีพิเศษในกลุ่มคำที่ใช้กันเป็นที่นิยมแล้ว เช่นเดียวกับ ตัวย่อ พ.ศ. ที่มาจากพุทธศักราชก็ได้ เห็นด้วยกับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ในการใช้ภาษาไทยเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน แต่จะต้องมีการเผยแพร่อย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดการรับรู้และสามารถนำไปใช้อย่างถูกต้องด้วย” นายเนาวรัตน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น