xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ-มูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ โชว์ระบบคุมเด็กเล่นเกมไม่เกิน 3 ชม.ต้นทุนต่ำ-ทำได้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ-มูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ โชว์ ระบบคุมเด็กเล่นเกมไม่เกิน 3 ชม. ต้นทุนต่ำ-ไม่ซับซ้อน-ใช้ได้จริงเว้นแต่ไม่อยากทำ กุมารแพทย์ยันต้องคุมเวลา ชี้ติดเกมแล้วเหมือนติดเหล้า-บุหรี่ เลิกยาก ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อถูกคุกคามทางเน็ต ด่าหยาบคาย โพลต์รูป ข่มขู่ เหตุขวางผลประโยชน์ร้านเกม


จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวิดีทัศน์ พ.ศ.2552 โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งมีสาระสำคัญให้ตัดเนื้อหา “เรื่องการอนุญาตไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมเกินวันละ 3 ชม.” โดยอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้จริงทำให้สถาบันด้านสุขภาพเด็ก และเครือข่ายภาคสังคมออกมาคัดค้านนั้น

นางศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้คิดระบบกำกับดูแลการเล่นเกมในร้านอินเตอร์เน็ต ด้วยแนวคิดการเก็บข้อมูลการเล่นเกมต่อวันของเด็กเป็นรายคน ซึ่งผู้ให้บริการเกมจะต้องให้ข้อมูลการเล่นเกมต่อวันของเด็กจากระบบกำกับดูแล เพื่อนำมาใช้ในการกำกับดูแลเวลาการเล่นเกมของเด็ก และไม่ได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเป็นเพียงการให้ข้อมูลเพื่อแสดงความมีตัวตนเท่านั้น และผู้ให้บริการไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงแต่อย่างใด ทำให้สามารถควบคุมเวลาการเล่นเกมของเด็กในร้านเกม ไม่ให้เกินวันละ 3 ชม.ได้จริง

นางศรีดากล่าวต่อว่า ขั้นตอนมีดังนี้ 1.เด็กป้อนเลขประจำตัวประชาชน เพื่อเข้าเล่นเกมผ่านเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเกมออนไลน์ 2.เซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการเกม ตรวจสอบข้อมูลเด็ก (ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด) จาก เซิร์ฟเวอร์กลางระบบกำกับดูแลซึ่งเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร 3.เซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการเกม สอบถามข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์กลางระบบกำกับดูแลว่าเด็กเหลือจำนวนชั่วโมงเล่นเกมต่อวันอีกหรือไม่ ถ้าไม่เหลือ ระบบกำกับดูแล แจ้งกลับ “ครบ 3 ชม.แล้ว” แก่เซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการเกม และผู้ให้บริการเกมแจ้งเด็ก “ไม่อนุญาตให้เล่น” ถ้าเหลือเวลา ระบบกำกับดูแล แจ้ง “โควตาเหลือ 1 ชม.” แก่เซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการเกม และผู้ให้บริการเกมอนุญาตให้เด็กเข้าเล่นเกมได้อีกไม่เกิน 1 ชม. ซึ่งถ้าเด็กเล่นจนครบ ระบบเตือน “ครบ 3 ชม. แล้ว” ตัดเด็กออกจากระบบ แต่หากเด็กเลิกเล่นเกมก่อนครบโควต้า ระบบก็จะปรับปรุงเวลาของเด็กในฐานข้อมูลกลางระบบกำกับดูแล เพื่อบวกเพิ่มเวลาที่เล่นในรอบนี้

“ระบบนี้ไม่มีความซับซ้อน เป็นเพียงการเชื่อมฐานข้อมูล มีต้นทุนไม่สูง การใช้งานเหมือนกับการเข้าเว็บไซต์ธรรมดาทั่วไป ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าหากมีเด็กเล่นเกมพร้อมๆกันเป็นจำนวนมากจะมีปัญหา เพราะเว็บไซต์หลายๆ เว็บมีคนเข้าดูพร้อมกันเป็นแสนยังให้บริการได้ เรื่องนี้จึงง่ายยิ่งกว่าที่กระทรวงวัฒนธรรม จะต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยตรวจสอบเวลาการเข้าออกร้านเกมของเด็กเสียอีก”นางศรีดา กล่าว

พญ.ชนิกา ตู้จินดา กุมารแพทย์ และที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเวลาการเล่นเกมของเด็ก เพราะการที่เด็กเล่นเกมแล้วติดเกม เนื่องจากขณะเล่นเกมจะมีสารเอนโดฟินหลั่ง เมื่อกระทำอย่างต่อเนื่องสมองจะติดพฤติกรรมนั้นๆ เหมือนกับการติดบุหรี่หรือสุรา เมื่อติดเกมแล้วก็จะจดจ่อไปที่เกมอย่างเดียว ไม่อยากเรียนรู้เรื่องอื่น การเล่นเกม หรืออยู่กับคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ต่อเนื่องกันเกิน 3 ชม.จะมีผลเสียแน่นอน ระยะสั้นจะมีปัญหาด้านสายตา ระยะยาวกล้ามเนื้อจะไม่ถูกพัฒนา เพราะการทำกิจกรรมใด ที่อยู่กับที่นานๆ เกิน 1 ชม.จะทำให้เลือดไม่ไหลเวียน การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตไม่ดี อีกทั้งทำให้เด็กเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น หรือกลายเป็นเด็กที่กระตือรือร้นสูงมากๆ

นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า การผลักดันให้มีการกำหนดให้เด็กและเยาวชนห้ามเล่นเกมส์เกิน 3 ชั่วโมง นั้น เป็นการทำภายใต้หลักการและเหตุผล มีข้อประจักษ์ทางการแพทย์ มีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ ผ่านการศึกษาว่าสามารถปฏิบัติได้จริงและมีประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน แต่กลับได้รับการต่อต้าน เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล

“ตอนนี้การคัดค้านจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์รุนแรงมากขึ้น ดิฉันถูกคุมคามเพราะออกมาต่อต้านเรื่องนี้ ด้วยการนำข้อมูลส่วนตัว รูปถ่าย ลงในเว็บไซต์ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ของเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวัง ทั้งยังใช้ถ้อยคำหยาบคายโจมตีข้อเสนอให้มีการควบคุมดังกล่าว กรณีดังกล่าวหากผู้ประกอบได้รับความเดือดร้อน ควรเข้าร่วมและเสนอความคิดเห็นและทางแก้ไขปัญหาพร้อมกับแนวทางการช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ ไม่ใช้ข่มขู่ คุกคาม โจมตีกันอย่างไร้เหตุผล ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่ทำงานด้านสังคมถูกกระทำเช่นนี้อีก ดิฉันจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดเพื่อเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยืนยันว่าจะเดินหน้าทำงานเรื่องนี้ต่อไป เพื่อลูกหลานของเราทุกคน” นางอัญญาอร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น