สอศ.ล้อมกรอบเด็กตีกันตั้ง 4 กลุ่ม 4 โซนพื้นที่ดูแลปัญหา ด้านศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ระบุสถิติตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ ได้รับแจ้งเหตุมากที่สุดในรอบ 3 ปี สน.เพชรเกษมได้รับแจ้งเหตุสูงสุด ถ.เพชรเกษม จุดเสี่ยงก่อเหตุ เผยช่วงเวลาหลังเลิกเรียนบ่าย 3-6 โมงเย็น มีปัญหามากที่สุด เตรียมจัดอบรมสายลับเด็กอาชีวะ มอบหมายเลขพิเศษ 7 หลักโทร.แจ้งเหตุโดยเฉพาะ พร้อมหนุนแยกเด็กปี 1 อบรม ปลูกฝังโดยเฉพาะ กันรุ่นพี่เข้าใกล้
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายในการเฝ้าระวังและป้องปรามนักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โดยนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวะศึกษา กล่าวว่า วันนี้เป็นการนัดประชุมโดยเชิญ ตำรวจนครบาล นายกสมาคมการศึกษาเอกชน ศูนย์เสมารักษ์ ผู้แทนจาก ขสมก. และผู้บริหารสถาบันอาชีวะใน กทม. เพื่อรับทราบแผนดำเนินการที่ผ่านมาและ กำหนดมาตรการป้องกัน ซึ่งจากการรายงานของตำรวจ 191 ทำให้ทราบว่า โซนที่มีการก่อปัญหา ได้แก่ โซนเพชรเกษม โซนบางเขน และ โซนบางนา เป็นโซนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างจริงจัง โดยในช่วงเวลาที่ก่อเหตุจะเป็นเวลาเช้า และเย็น โดยในช่วง 15.00-18.00 น.พบเกิดเหตุมากที่สุด
ทั้งนี้ จากสถิติดังกล่าวทำให้ สอศ.ได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันทำงานประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มจตุจักร ซึ่งมีนายชนินทร์ ปิ่นทอง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เป็นประธาน ดูแลในเขตบางเขน ดอนเมือง จตุจักร บางกะปิ ลาดพร้าว บึงกุ่ม หนองจอก ลาดกระบัง เป็นต้น และส่วนหนึ่งของ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี 2. กลุ่มชัยสมรภูมิ มีว่าที่ ร.ต.พงษ์เพ็ชร์ พิทยาพละ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เป็นประธาน ดูแลในเขตพระนคร ป้อมปราบฯ ดุสิต บางซื่อ พญาไท ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง ปทุมวัน สัมพันธวงศ์
3.กลุ่มสวนหลวง ร.9 มีนายสุรัตน์ จั่นแย้ม ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ เป็นประธาน ดูแลในเขตพระโขนง คลองเตย ประเวศ ยานนาวา สาทร บางคอแหลม บางนา บางรัก วัฒนา สวนหลวง และ จ.สมุทรปราการ และ 4.กลุ่มธนบุรี มีน.ส.ชมพูนุช บัวบังศร ผอ.วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม เป็นประธาน ดูแลเขตบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางบอน บางขุนเทียน ภาษีเจริญ ราษฎร์บูรณะ ทวีวัฒนา บางแค ตลิ่งชัน หนองแขม ธนบุรี บางพลัด คลองสาน จอมทอง ทุ่งครุ และ จ.สมุทรสาคร
“จากการวิเคราะห์ร่วมกันส่วนใหญ่บริเวณที่เกิดจะอยู่ที่ป้ายรถเมล์ทั้งเดินทางมาเรียน หรือเดินทางกลับบ้าน อย่างในย่านพหลโยธินที่มีเหตุเกิดขึ้นบ่อยแต่มีสถานศึกษาอยู่น้อย ซึ่งพบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นโซนที่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายรถเมล์ระหว่างกลับบ้านที่อยู่ทางส่วนของ มีนบุรี บางเขน จะต้องมารอต่อรถที่จตุจักร จึงเป็นพื้นที่ที่นักเรียนเกิดการกระทบกระทั่งกันมาก”
นายเฉลียวกล่าวต่อว่า นอกจากจะจัด 4 กลุ่มแล้วได้มีการทำงานกับสถาบันเอกชนด้วย ในการกำหนดตัวบุคคลากรเพื่อเข้าเวรดูแล ป้องกันเด็กทะเลาะวิวาท ซึ่งสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือให้ครู อาจารย์ ต้องศึกษา วิเคราะห์ปัญหาว่าเหตุเกิดจากเด็กปัจุบัน หรือศิษย์เก่า เพื่อทำการคัดกรอง และประสานความร่วมมือกับตำรวจ และศูนย์เสมารักษ์ ซึ่งจากการเข้มงวดด้านนโยบายมากขึ้นทำให้สถิติเฉพาะที่แจ้งเข้ามายังศูนย์เสมารักษ์ก็พบว่ามีเหตุเกิดขึ้นลดลงจากปี ทั้งนี้ในกลุ่มก่อเหตุที่พบคือนักเรียนแต่งเครื่องแบบออกจากบ้าน แต่ไปไม่ถึงโรงเรียน ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องอาศัยการดูแลจากผู้ปกครอง ด้วยในการช่วยสอดส่องดูแล สอบถามดูแล เอาใส่ว่าเด็กมาถึงสถานศึกษาหรือไม่ หรือสอบถามไปยังสถานศึกษาเพื่อให้ตรวจสอบ ก่อนลูกหลานจะเสียอนาคต
พ.ต.อ.สมนึก น้อยคง ผู้กำกับการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191) กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งเหตุของศูนย์วิทยุ 191 จากกลุ่มที่จะก่อเหตุ และก่อเหตุแล้วนั้นเมื่อเปรียบเทียบในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2552 พบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ พบสถิติในภาพรวมทุกกรณีสูงขึ้น และ สน.เพชรเกษม มีสถิติการรับแจ้งเหตุสูงสุด โดยถนนเพชรเกษมเป็นบริเวณที่มีการก่อเหตุมากที่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ 15.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่เลิกเรียนจะมีการก่อเหตุมากที่สุด รอลงมาคือ ช่วงเที่ยง ถึง 15.00 น.
“วันนี้ที่ประชุมมีแผนในการปฏิบัติงานโดยความร่วมมือกันของ อาจารย์ในสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเอาสถิติมาดูกัน มาวิเคราะห์กัน เอที่จะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อาจารย์ จนถึงสารวัตรนักเรียน เพื่อประจำการตามจุดเสี่ยงต่างๆ พร้อมทั้งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีการทำปฏิทินรายปีถึงโปรแกรมงานของแต่ละสถาบัน และจัดฝ่ายสืบสวนเข้าหาข่าวด้วย” พ.ต.อ.สมนึกกล่าว
พ.ต.อ.สมนึก กล่าวต่อว่า ในส่วนของการระงับเหตุนั้น หากมีคนแจ้งเข้ามาเร็วการระงับเหตุก็จะเข้าถึงได้เร็ว ซึ่งตำรวจเองก็รู้อยู่แล้วว่าเวลาใด สถานที่ใดที่มีการก่อเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งก็ได้วางมาตรการเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่บางในบางกรณีที่การก่อเหตุกระจายตัวตามที่ต่างๆ ก็ต้องอาศัยการออกตรวจ ดังนั้นทางตำรวจจึงได้ประสานกับ สอศ. และสถานศึกษา ในการที่จะจัดฝึกอบรม นักเรียนอาชีวะ ตลอดจนนักเรียนอื่นๆ ซึ่งเด็กที่ผ่านการอบรมจะได้รับหมายเลขโทรศัพท์ 7 ตัวในการโทรศัพท์เหตุแจ้งเหตุเป็นการเฉพาะ โดยที่นักเรียนเหล่านี้หากได้ยินเพื่อนจับกลุ่มพูดคุย นัดหมาย ในการก่อเหตุก็สามารถโทรศัพท์แจ้งได้ทันที ผ่านหมายเลข 7 หลักที่ตำรวจมอบให้ ซึ่งเชื่อว่าดีกว่ารอให้ประชาชนแจ้งเข้ามา ซึ่งเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวนั้นจะรู้กันเฉพาะนักเรียนที่อบรมเท่านั้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับทาง สอศ.
“เด็กนักเรียนใหม่ ปี 1 ที่เข้าไปเปรียบเหมือนผ้าขาว อาจารย์เข้าไปดูแล ปลูกฝังอะไรก็จะเชื่อตามนั้น เมื่อออกไปจากอาจารย์เจอรุ่นพี่ก็อาจมีการปลูกฝังอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแก้ลำบาก โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าจะมีการแยกเด็กปี 1 ออกไป เหมือนกับโรงเรียนนายร้อย เพื่อปลูกฝังสิ่งดีๆ ไม่ให้รุ่นพี่เข้ามายุ่งกับรุ่นน้อง เอาปี 1 ของแต่ละที่แยกออกมาอบรมร่วมกัน เข้าค่ายร่วมกัน ดังนั้น รุ่นพี่ต้องเสียสละ เพราะต้องยอมรับว่าเหตุที่เกิดส่วนใหญ่เกิดจากรุ่นพี่ที่คอยปลูกฝัง ชี้นำ ด้านการเฝ้าระวังเหตุนั้นก็เหมือนเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่ควรปลูกฝังตั้งแต่ต้นกล้าใหม่ๆ จะดีที่สุด” พ.ต.อ.สมนึก กล่าว