รายงานพิเศษ โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
ด้วยเหตุที่เครื่องแต่งกาย “โขน” ไม่ได้มีการปรับปรุงเป็นเรื่องเป็นราว ระยะหลังความวิจิตรงดงามของเครื่องแต่งกายโขนจึงค่อยๆ เลือนไป เป็นเพียงงานเย็บหยาบๆ ที่วับแวมกลางแสงไฟเท่านั้น
กระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นห่วงว่าเครื่องแต่งกายโขนในยุคสมัยต่อไปจะไร้ความงดงาม และขาดผู้สืบทอดจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้กรมศิลปากรจัดทำเครื่องแต่งกายโขนที่เป็นแบบฉบับกรมศิลปากรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นการบูรณะปรับปรุงชุดเครื่องแต่งกายโขนใหม่อีกครั้งหลังจากร้างห่างมานาน
อรพินท์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายพัสตราภรณ์ และเครื่องโรง กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า ตัวแปรที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทำชุดเครื่องแต่งกายโขนคือ สกุลช่าง ซึ่งปัจจุบันนี้นับหาได้น้อยเต็มที อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ เป็นคนหนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจงานช่างศิลปะของการออกแบบการปักเป็นอย่างดี โดยได้รับถ่ายทอดจาก “อ.เยื้อน ภาณุทัต” บวกประสบการณ์การเป็นช่างเขียนจิตรกรรมแต่มีความรู้เรื่องละครอย่างลึกซึ้ง กรมศิลปากรจึงเชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาวิธีการปักและเขียนลายตามวิชาช่าง
และก็เป็นที่น่ายินดีว่า
อ.จักรพันธุ์ ยินดี และเต็มใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ช่างพัสตราภรณ์โดยไม่หวงวิชา ทำให้วิชาก้นหีบที่ช่างควรจะเก็บไว้อวดตามความเชื่อโบราณได้รับการถ่ายทอดออกมาจนหมดสิ้น
“เกร็ดเล็กน้อยบางอย่างที่ช่างจะไม่บอกกัน เพราะถือว่าเป็นการอวดฝีมือ เป็นเรื่องของเทคนิค แต่ท่านอาจารย์จักรพันธุ์ไม่คิดเช่นนั้น ท่านต้องการที่จะฝึกฝนช่างให้เก่ง เพราะอยากให้มีคนสืบทอดมีคนทำงานและต้องการให้วิชาช่างปักให้ควรคู่แก่แผ่นดินต่อไป รวมทั้งเผยแพร่ศิลปะของชาติที่มีเอกลักษณ์อย่างไม่มีชาติไหนเทียบได้เป็นที่รู้ชื่นชมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ”
คงกนก เหลืองอร่าม ช่างอาภรณ์ ฝ่ายพัสตราภรณ์และเครื่องโรง ลงรายละเอียดการทำงานกับ อ.จักรพันธุ์ ว่า การทำชุดโขนครั้งนี้ต้องการลงลูกเล่นในเครื่องแต่งกายโดยให้รายละเอียดที่มาของตัวละคร
กล่าวคือ พระรามมีต้นกำเนิดจากพระนารายณ์มีตรี คทา จักร สังข์ เป็นอาวุธ สิ่งเหล่านี้ก็จะนำมาใส่ในเสื้อผ้าเพื่อบ่งบอกว่าพระรามคือพระนารายณ์อวตาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้อดำรงไว้เป็นงานศิลป์ที่สุดยอดในสมัยนี้ เพราะจะรวมวิธีการของช่างปักแต่ละแบบ เทคนิคแต่ละอย่างเข้ามาไม่เว้นเทคนิคของต่างประเทศ โดยมีฐานคิดอิงประวัติศาสตร์ความเป็นไทย
“คนอื่นอาจจะเขียนให้เป็นลายไทย ไม่คำนึงถึงความเป็นตัวละครแต่ละตัว ถือว่าท่านเป็นอัจฉริยะที่จะนำสื่อความเป็นตัวละคร ช่างที่มีใจรักอยากฝากงานศิลปะไว้ให้กับแผ่นดินต้องอดทนทำงานให้สำเร็จ ตอนนี้ช่างที่เข้าตาอาจารย์มีเพียง 9 คนเท่านั้น งานจึงออกมากระท่อนกระแท่น 123 ชุดที่จะต้องทำเพื่อการแสดงตอนนี้เรียบร้อยแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ว่ากว่าจะครบ 100 เปอร์เซ็นต์จะเสร็จเมื่อไหร่ แต่ก็จะยังทำกันต่อไป” ช่างอาภรณ์บอก
การุณ สุทธิภูล ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต อธิบายเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี 2546 ที่กรมศิลปากรได้ทำการพัฒนาชุดโขนเรื่อยมาใช้ทั้งคนและคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบชุดโขน หรือเชิญ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) มาเป็นที่ปรึกษา แต่จวบจนปัจจุบันยังไม่ปรากฏหน้าตาชุดเครื่องแต่งกายโขนมาตรฐานของกรมศิลปากรแต่อย่างใด
จนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2552 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในงานวันอนุรักษ์มรดกไทย กรมศิลปากรจึงได้นำตัวอย่างการปักลายในแบบต่างๆ ให้ทอดพระเนตร
ข้อสรุปจากวันนั้นคือ งานปักของ อ.จักรพันธุ์ ซึ่งวิจิตรบรรจง สวยงาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้กรมศิลปากรทำต่อไป แต่เนื่องจากเป็นงานที่ละเอียด บอบบาง จะนำมาออกแสดงบ่อยไม่ได้ อาจจะใช้ในการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง หรือรับแขกบ้านแขกเมืองเท่านั้น ส่วนชุดที่กรมศิลปากรใช้ออกแสดงในปัจจุบันถือว่าเป็นแนวทางที่กรมศิลปากรควรใช้ต่อไปเพื่อแสดงให้ประชาชนชมในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพัฒนา คือ เขียนลายและปักใหม่ให้ประณีต ปรับวัสดุให้สวยงาม เหมาะกับกาลสมัย โดยสามารถจ้างผู้รับเหมาต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสกุลช่างไปในคราวเดียวกัน
“เราก็ไปทำการศึกษาว่าของที่มีมาแต่โบราณเป็นอย่างไร และของที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร และหาจุดที่พอดีว่ามาตรฐานของกรมศิลปากรนั้นจะออกมาแบบไหน ตั้งใจจะเชิญช่างจากสำนักช่างสิบหมู่มาหารือเพื่อพัฒนาลายให้ดีขึ้น ให้เขียนลายให้ใหม่ นำไปสู่การจ้างเหมาทำเครื่องโขนของเราให้งดงาม”
ผอ.การุณ ทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้ ได้ปล่อยปละละเลยขั้นตอนการเข้าไปตรวจสอบผลงานของช่างรับเหมา อย่างไรก็ตาม จากนี้จะเป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปปรับปรุง จำเป็นต้องมีช่างของกรมศิลปากรไปดูกระบวนการทำงานของช่างให้ประณีตละเอียดยิ่งขึ้น และเชื่อว่า จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้
“ส่วนงานของ อ.จักรพันธุ์ เดินต่อ และเริ่มต้นงานต้นแบบของกรมศิลปากรใหม่ด้วยการปรับปรุงลายใหม่ ให้เป็นมาตรฐานศิลปากร ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกช่างให้มีความชำนาญและรอบรู้เข้าใจปักให้ถูกต้องตามแนวทางด้วย” ผอ.กองการสังคีต สรุป
จากวันนี้คงต้องรอคอยเฝ้าดูการแสดงเปิดตัวชุดโขนมาตรฐานใหม่ของกรมศิลปากรอย่างใจจดใจจ่อเสียแล้ว...