ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ เมื่อรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะคล้ายจะเป็นไข้ สิ่งที่คุณทำคือเดินไปหยิบยาแก้ปวดหัวที่มักจะมีติดบ้านอยู่เสมออย่าง “พาราเซตามอล” สองเม็ด โยนเข้าปาก แล้วดื่มน้ำตาม หรือเมื่อปวดท้อง เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ จาม เป็นหวัด คุณก็จะหยิบยาแก้โรคนั้นๆ กินเอง แล้วก็บอกตัวเองว่า คุณเป็นคนที่ดูแลร่างกายดี ไม่ปล่อยปละละเลยอาการใดๆ เมื่อผิดปกติก็หายากินแล้วละก็ คุณกำลังคิดผิดมหันต์ หนำซ้ำสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้น อาจก่อผลร้ายอย่างยิ่งต่อชีวิตคุณในระยะยาว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ไมเคิล แจ็กสัน” King of Pop ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นกันว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใช้ยามากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดที่มีข้อมูลว่า ไมเคิลใช้ถึง 3 ชนิดด้วยกัน เช่นเดียวกับบรรดานักร้องหรือไฮโซเมืองไทยที่มีรายงานว่ามีไม่น้อยที่ติดยาประเภทที่ซื้อได้ถูกกฎหมาย อย่าง ยาแก้ปวดหรือยาคลายเครียดบางตัว เป็นต้น
-1-
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ภาพสาเหตุของการกินยาพร่ำเพรื่อของคนไทยว่า แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่ง-กินเพราะติดยาชนิดนั้น ซึ่งลักษณะอาการติดจะคล้ายกับผู้ติดยาเสพติด การติดชนิดนี้จะเกิดในกรณีการกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ สอง-กินเพราะติดที่จะกินยานั้นๆ เป็นนิสัย โดยเกิดขึ้นในกรณีการกินยาที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติด แต่กินเป็นเวลานานๆ จนกลายเป็นการเสพติดในเชิงพฤติกรรม
“เคยมีโอกาสทำวิจัยกับทางอย.และสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลน่าสนใจมากอย่างหนึ่งคือในบ้านเรามีการใช้ยานอนหลับและคลายประสาทที่ชื่อว่า ดอมิคุ่มและโซแลมสูงมาก โดยเฉพาะโซแลม มีการใช้ปีละเป็นล้านเม็ด สูงที่สุดที่เคยมีคือ 3 ล้านเม็ดต่อปี ใช้กันทั้งในรูปแบบของยากินและยาฉีด คือนำเม็ดมาบดละลายน้ำแล้วกรองฉีด แม้จะเป็นยาควบคุม แต่ก็มีคนมาบอกเหมือนกันว่ามีการซื้อขายกันอยู่ โดยเฉพาะตามคลินิกเอกชน คนที่ติดยาเสพติดจะรู้ว่าเมื่อขาดยาเสพติดแล้วเขาจะหายาประเภทโซแลมซึ่งหาซื้อง่ายกว่าได้ที่ไหนบ้าง กฎหมายบ้านเราเปิดช่องสารพัดให้แก่คลินิกเอกชน”
ผศ.ดร.ภญ.นิยดาให้ข้อมูลต่อไปว่า นอกจากยาชนิดที่กล่าวมาแล้ว ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่คนไทยนิยมใช้ไม่แพ้กันก็คือ “ยาแก้ไอ” ที่มีส่วนผสมของ “โคเดอีน” ซึ่งถูกวัยรุ่นนำมาผสมแอลกอฮอล์ภายใต้ชื่อที่รู้จักกันดีในแวดวงผู้ติดว่า “สี่คูณร้อย”
แต่ที่น่าห่วงไม่แพ้กันก็คือ พฤติกรรมการใช้ยาแบบพร่ำเพรื่อฟุ่มเฟือย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลสถิติตัวเลขการใช้ยาแบบชัดเจน แต่เท่าที่เก็บข้อมูลแบบคร่าวๆ พบข้อมูลในเชิงปริมาณว่าในประเทศไทย คนไทยนิยมซื้อยามาก ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอลที่ออกฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ รวมไปถึงยาปฏิชีวนะ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง
“คนไทยเรามีนิสัยกินยาแบบฟุ่มเฟือย และมองว่ายาเป็นของดี มีประโยชน์ ซึ่งจริงๆ มันก็มีประโยชน์ในกรณีที่ป่วย แต่ส่วนใหญ่จะไม่มองข้อเสีย ไม่มองโทษว่ามันมีผลข้างเคียงอย่างไร เพราะอย่างน้อยที่สุด แม้แต่ยาแก้ปวดที่ใช้กับสามัญประจำบ้านอย่างพาราฯ ก็ยังมีผลเสียต่อตับและไตหากกินไปนานๆ ยิ่งยาปฏิชีวะก็เป็นอีกตัวที่คนไทยใช้ฟุ่มเฟือย แค่รู้สึกเจ็บคอนิดหน่อย หรือปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อยก็กินกันแล้ว แทนที่จะดูที่ต้นเหตุว่า แท้จริงแล้วอาการเจ็บคอนั้นมาจากเชื้อไวรัสหวัดจริงๆ หรือเกิดจากการพักผ่อนน้อย ซึ่งหากเกิดจากประการหลังไม่จำเป็นต้องกินยา แค่พักผ่อนมากๆ อาการก็จะหายได้เอง นอกจากนี้เมื่อกินพาราฯ เข้าไป มันจะเข้าไปกดอาการปวด ทำให้เราละเลยสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงนั้นอันตราย ก็จะทำให้เสียโอกาสการรักษาที่ทันท่วงทีไป”
-2-
ผศ.ดร.ภญ.นิยดาให้แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดของการใช้ยาว่า การใช้ยาที่ปลอดภัยที่สุดคือ ใช้ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ โดยต้องหาสาเหตุการเจ็บป่วยไม่สบายที่เกิดขึ้นเสียก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ไม่ใช่ว่าหากรู้สึกปวดก็กินพาราเซตามอล และหากป่วยจริงๆ และต้องกินยา สิ่งที่ต้องใส่ใจที่สุดเกี่ยวกับยา คือฉลากบ่งวิธีใช้ ต้องอ่านให้ละเอียด สรรพคุณ การออกฤทธิ์ ขนาด สัดส่วนในการใช้ ข้อปฏิบัติในการใช้ ข้อห้าม รวมถึงข้อควรระวังของยาตัวนั้นๆ
“ในส่วนของฉลาก คนไทยใช้ยาตามความเคยชิน อย่างพาราฯ ปกติกินสองเม็ด ซึ่งเท่ากับพันมิลลิกรัม ถ้าบางคนน้ำหนักน้อยก็ถือว่าพันมิลลิกรัมนี้มากไป ต้องอ่านฉลากให้ละเอียดว่ามันออกฤทธิ์อย่างไร สรรพคุณอะไร แก้อะไรดูให้ชัดเจน ต้องกินขนาดไหนจึงจะพอดี รวมถึงข้อห้าม ข้อควรระวัง ข้อเสีย อย่างพาราฯ วันหนึ่งไม่ควรกินเกินแปดเม็ด ข้อควรระวังของยาชนิดนั้นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และมันจะทำให้เรารู้ด้วยว่า ยานั้นๆ มันมีข้อเสียด้วย ไม่ได้มีข้อดีอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น ”
ผศ.ดร.ภญ.นิยดายังแสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์การใช้ยาของคนไทยในขณะนี้ว่า ก่อนหน้านี้คนไทยนิยมยาแก้ปวดพาราเซตามอล แต่ตอนนี้ความนิยมเปลี่ยนไปสู่ยาประเภทไดโคฟิแนค หรือบูเฟ่น ที่ออกฤทธิ์ต้านอักเสบ แก้ปวดบวม อักเสบ แก้ปวดข้อ ซึ่งมีผลข้างเคียงมาก มีโอกาสตีกับยาชนิดอื่นๆ สูง และส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัว ซึ่งลักษณะนี้เหมือนกับแอสไพริน หากใช้ในผู้ป่วยโรคเลือดเช่นไข้เลือดออก จะมีผลข้างเคียงที่อันตรายได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาในประเด็นของการยกเลิกยาที่ควรเลิกใช้ มียาหลายตัวที่ต่างประเทศประกาศยกเลิกใช้แล้ว แต่ประเทศไทยยังคงใช้อยู่ เช่น ยาไดเซนโต้ที่เป็นยาแก้ท้องเสียหลายประเทศก็เลิกใช้แล้ว แต่บ้านเราใช้อยู่ ในขณะที่การจดทะเบียนยาใหม่ๆ ก็ทำกันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือยาแก้ปวดประเภทพาราเซตามอลที่มีตั้ง 200 ยี่ห้อ
สำหรับผู้ที่ใช้ยาพร่ำเพรื่อจนติดนั้น ในกรณีผู้ที่ติดประเภทออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอาจจะยุ่งยากสักหน่อย เพราะยาประเภทนี้จะเข้าไปเปลี่ยนเคมีในสมอง หากเลิกแบบหักดิบจะมีอาการที่เรียกว่าถอนยา เหมือนคนติดยาลงแดง จะมีอาการปวดไมเกรนรุนแรง นอนไม่หลับรุนแรง ท้องเสีย ปวดกระดูก ปวดเมื่อยเนื้อตัว ทางที่ปลอดภัยที่สุดคือพบแพทย์หรือหรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำ เช่นเดียวกับผู้ที่ติดยาสเตียรอยด์ก็เลิกเองปุบปับไม่ได้ เพราะอันตรายต่อร่างกาย ต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเช่นกัน
ส่วนผู้ที่ติดยาถูกกฎหมายที่ซื้อขายกันได้ตามปกติ จำพวกยาปวดหัว ยาคลายเครียดบางประเภท พวกนี้ผลข้างเคียงเมื่อเลิกจะไม่เท่าประเภทแรก แต่ก็มีเหมือนกันที่ปวดเมื่อย ปวดกระดูก รู้สึกไม่สบายตัว