xs
xsm
sm
md
lg

ชวนไป...“ฝังเข็ม” ที่ รพ.พระนั่งเกล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไมเกรน ปวดหลัง ปวดขา นอนไม่หลับ อัมพาต เหน็บชา...สารพัดโรครักษาได้ด้วย...การฝังเข็ม
               
หากพูดถึง “การฝังเข็ม” หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากปัจจุบันการฝังเข็มเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ให้การรับรองศาสตร์สาขานี้ตั้งแต่ปี 2543 ว่า สามารถใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้ 28 กลุ่มอาการ ทำให้ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งของภาครัฐและเอกชน มีบริการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในสถานบริการที่เปิดให้บริการ ก็คือ “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า”

-1-

               
นพ.โกสินทร์ ตรีรัตน์วีรพงษ์ หัวหน้าหน่วยฝังเข็ม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อธิบายหลักการฝังเข็ม ว่า เป็นวิธีการช่วยปรับสมดุลของร่างกาย โดยไปกระตุ้นระบบของร่างกาย ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีในโรคที่เริ่มเป็นในระยะแรกหรือระยะกลาง เช่น ปวดเข่า ยิ่งถ้ามาตั้งแต่เริ่มแรกก็จะช่วยให้หายขาดได้ แต่หากโครงสร้างของร่างกายบิดเบี้ยวหรือผิดรูปแล้ว การฝังเข็มจะช่วยแค่บรรเทาปวดเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยต้องใช้วิธีการรักษาแผนปัจจุบันโดยการเปลี่ยนข้อเข่า เป็นต้น

ทั้งนี้ การฝังเข็มได้ผลดีกับอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหัว ไมเกรน ปวดประจำเดือนรุนแรง อาการอ่อนแรง เช่น โรคเส้นเลือดในสมองตีบ อัมพฤกษ์/อัมพาต อาการชาจากโรคเบาหวาน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาการนอนไม่หลับ มึนงง โรคกรดไหลย้อน ความดัน และโรคภูมิแพ้ ฯลฯ ขณะที่ในกลุ่มโรคที่เป็นฉับพลัน โรคติดเชื้อ อุบัติเหตุฉุกเฉิน การฝังเข็มไม่สามารถช่วยได้

“การรักษาโรคด้วยแพทย์แผนปัจจุบันที่หลายโรคได้ผลการรักษาไม่ดี เช่น ไมเกรน ปวดหลัง ปวดไหล่ การฝังเข็ม หรือโรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้ไวต่อความรู้สึก ซึ่งมีอาการปวดท้องบ่อย ท้องอืด แน่นท้อง ได้ผลดีมาก โดยเฉพาะโรคที่หาสาเหตุไม่พบ อย่างพยาบาลรายหนึ่ง เป็นโรคลำไส้ไวต่อความรู้สึก ไปหาหมอรักษาไม่หาย แพทย์บอกไม่เป็นอะไร มีการแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เพราะตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่เมื่อมาฝังเข็มใช้เวลาในการรักษาประมาณ 1 ปี อาการต่างๆ ก็หายไป”

“สำหรับที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า  90% ของผู้ป่วยมาด้วยอาการ ปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดส้นเท้า ปวดเอว เรียกว่าอาการปวดแทบทุกส่วนของร่างกายได้รับความนิยมมาฝังเข็มอย่างมาก”
นพ.โกสินทร์ ตรีรัตน์วีรพงษ์ หัวหน้าหน่วยฝังเข็ม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
นพ.โกสินทร์ อธิบายขั้นตอนการรักษาผู้ป่วย ว่า ตามปกติ เมื่อผู้ป่วยพบแพทย์จะต้องทำการซักถามประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน แมะวัดชีพจร ให้ผู้ป่วยแลบลิ้นสังเกตอาการ ซึ่งลิ้นจะสามารถบอกความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีลิ้นเป็นฝ้าหนา มีน้ำลายมาก แสดงว่ามีเสมหะ จากนั้นก็แยกกลุ่มโรค วิเคราะห์และวางแผนการรักษา

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาฝังเข็มควบคู่กับการใช้สมุนไพรจีน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เขียนใบสั่งยา แนะนำวิธีการรับประทานยาเพื่อให้ไปต้มยากินเองที่บ้าน นอกจากนี้อาจมีการรักษาอย่างอื่นผสมผสาน เช่น นวดทุยนาหรือครอบแก้วสุญญากาศ แต่วิธีการนี้ต้องใช้เวลาในการรักษาจึงจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

“โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าได้เปิดให้บริการฝังเข็มตั้งแต่ปี 2541 มีผู้มารับบริการเฉลี่ย 80-100 คน/วัน และในปี 2551 มีผู้มารับบริการจำนวน 10,633 คน จึงมีการปรับปรุงอาคารซักฟอกเดิมให้เป็นอาคารแพทย์ทางเลือก/ฝังเข็ม เพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 9 กันยายน 2551 ขณะนี้สามารถรับผู้ป่วยได้ 22 เตียง มีแพทย์ให้บริการ 4 คน” นพ.โกสินทร์ ให้ข้อมูล

-2-

ทีนี้ ลองมาฟังความเห็นของผู้มาใช้บริการกันบ้าง

“ป้าเป็นหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน กระดูกพรุน ปวดขา ขาชา รักษากับแพทย์แผนปัจจุบันมามาก ลุยกับโรค ไปมาหลายโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ทางเลือกถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายแล้ว”

ศรัญยา อินทรประสิทธิ วัย 63 ปี ผู้ป่วยรายหนึ่งที่มาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวด้วยน้ำเสียงที่มีความหวัง พร้อมเล่าว่า มารักษาด้วยวิธีการฝังเข็มที่นี่ประมาณ 4 เดือนแล้ว แต่ละเดือนมาพบแพทย์ประมาณ 8 ครั้ง ครั้งแรกที่มาหาหมอด้วยอาการปวดหลัง ปวดขา ขาชา ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่มีผลต่อระบบประสาท จึงแนะนำให้ใช้วิธีฝังเข็ม เพราะจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

“ป้าเป็นโรคเบาหวานมาตั้งแต่ปี 2536 มาถึงตอนนี้ก็ 16 ปีแล้ว ทุกวันนี้รักษาโรคด้วยแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับการฝังเข็ม อาการดีขึ้นมาก จากเดิมที่บางคืนนอนไม่ได้ ต้องใช้ถุงมือ ถุงเท้า นวดด้วยยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าคืนไหนตื่นมากลางดึกก็ต้องมานั่งนวดขาอีกรอบ พอฝังเข็มแล้วก็รู้สึกดีนอนหลับได้สบาย รวมถึงอาการท้องเสียเรื้อรังจากระบบประสาทลำไส้ ซึ่งเป็นผลจากเบาหวานตั้งแต่มาฝังเข็มก็ไม่มีอาการท้องเสียอีกดังนั้นถึงจะรักษาโรคไม่หายขาดแต่ก็ตั้งใจว่าจะรักษาด้วยการฝังเข็มไปเรื่อยๆ เพราะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”

นอกจากนี้ ศรัญยา เล่าอีกว่า เคยมาหาหมอเพราะมีอาการน้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะไปพบแพทย์แผนปัจจุบันตรวจอย่างละเอียดแต่พบว่า ปกติดี ปอดไม่มีปัญหา แต่พอมารักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม 2 ครั้งเท่านั้น อาการต่างๆ ก็หายไป จำได้ว่า ตอนที่ฝังเข็มแรก มีความรู้สึกว่า คอแห้ง ร้อน น้ำมูกหยุดไหล หายใจโล่ง จึงทำให้รู้สึกแปลกใจและทึ่งมาก ที่สำคัญการฝังเข็มฝังเสร็จก็จบ ขณะที่ถ้าไปรักษาโรคกับแพทย์แผนปัจจุบัน บางโรคต้องกินยาหลายชนิด ทำให้เกิดผลข้างเคียงบางทีรักษา 1 โรค แต่ได้โรคเพิ่มมากอีก 2 โรค

ส่วนผู้ป่วยอีกรายหนึ่ง คือ“พิศมัย คล้ายชัง” อายุ 72 ปี บอกว่า เป็นโรคประสาทกล่องเสียงเสื่อม ทำให้เสียงแหบแห้ง พูดตะกุกตะกัก เสียงสั่น เหนื่อยง่าย ไอ เป็นมา 7 ปี แต่เพิ่งรู้ผลจากการตรวจส่องกล้องที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อปีที่แล้วว่า เป็นโรคดังกล่าวโดยแพทย์ให้การรักษาโดยการฉีดยาทุก 6 เดือน ขณะนี้อาการเหมือนเดิม ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทดลองมาพบแพทย์แผนจีนโดยรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม  

สำหรับสาเหตุที่ลองมารักษาด้วยการฝังเข็ม ว่า สามีวัย 76 ปี ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าอยู่แล้ว ซึ่งคุณหมอฝังเข็มให้ 2 ครั้ง อาการของสามีดีขึ้น สามารถหายใจได้เอง จึงสนใจที่จะลองรักษาอาการป่วยของตนเองด้วยวิธีนี้บ้าง               

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยฝังเข็ม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยมีบริการตรวจรักษา ฝังเข็ม การแมะ การครอบแก้วสุญญากาศ การรมยา การนวดทุยนาติดแม่เหล็ก สมุนไพรจีนประคบ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-5284567 ต่อ 5601-3
กำลังโหลดความคิดเห็น