xs
xsm
sm
md
lg

อยู่อย่างมีความสุขกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ...คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธสุภาษิตข้างต้นเป็นที่รู้จักกันและยอมรับกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่ความจริงก็คือ มนุษย์เรานั้นไม่อาจปฏิเสธการเผชิญหน้ากับโรคภัยไข้เจ็บได้


หลายคนมีความเชื่อ ว่า การเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ สามารถที่จะหายได้เอง แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นของความรุนแรงของโรคที่ได้คืบคลานมาหาตัวเราเอง เช่นเดียวกับโรคที่มีชื่อว่า “โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์” โรคนี้เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีการหลั่งสารออกมาทำลายเยื่อบุข้อ มีการอักเสบหนาตัวขึ้น มีการสร้างน้ำไขข้อเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวมแดง ร้อนที่ข้อและข้อฝืดแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่าหรือข้อเท้า

เมื่อการอักเสบเกิดขึ้นเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดการทำลายข้อ กระดูก กระดูกอ่อนผิวข้อ และส่วนประกอบอื่นๆ ของข้อ ทำให้ข้อพิการหรือผิดรูปได้

** เรียนรู้ ทำความเข้าใจโรค
พ.อ.(พิเศษ) ไพจิตต์ อัศวธนบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สรุปสถานการณ์ของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และแนวทางการรักษาในปัจจุบันว่า โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จัดเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด จากการศึกษาพบอัตราการเกิดโรคได้ตั้งแต่เด็กกระทั่งถึงผู้สูงอายุ แต่โดยทั่วไปแล้วจะพบในช่วงอายุ 20-40 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3-4 เท่า และพบอุบัติการณ์ 1.2 คนต่อประชากร 1,000 คน
 
สำหรับสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วมกับปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและความเครียด

ผู้ป่วยโดยมากจะมีอาการไม่รุนแรง มีอาการเป็นๆ หายๆ สามารถใช้ข้อต่างๆ ได้เกือบเท่ากับคนปกติ จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการรุนแรงทำให้เกิดความพิการ มีข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างจนใช้งานไม่ได้ และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมากที่จะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตา หัวใจ หลอดเลือด ปอด ม้าม เป็นต้น

“โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการได้ แต่ต้องใช้เวลานาน ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนในการรักษาไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนยาเองเพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเองโดยเฉพาะเมื่อเกิดความพิการขึ้นแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้”

พ.อ.(พิเศษ) ไพจิตต์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนการรักษาโดยการใช้ยานั้น มี 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรกเป็นยาที่ทำให้โรคไม่สงบและกลุ่มที่สองยาที่ทำให้โรคสงบ ด้านกลุ่มยาที่ทำให้โรคไม่สงบนั้น เมื่อกินยาเข้าไป 1-2 ชั่วโมงอาการอักเสบก็จะดีขึ้น เพราะยาจะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง หลังจากนั้นเมื่อยาหมดฤทธิ์อาการปวดอักเสบก็จะกลับมาอีกครั้ง ส่วนยาที่ทำให้อาการสงบนั้นจะแตกต่างจากกลุ่มยากลุ่มแรก คือ จะไม่บรรเทาอาการปวดหรืออาการอักเสบที่เกิดขึ้นแต่จะทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้น แต่ใช้เวลานานพอสมควรผู้ป่วยต้องอดทนต่อความเจ็บปวด
 
“การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จึงต้องมีการผสมผสานทั้งสองกลุ่ม ยากลุ่มแรกใช้ในการบรรเทาอาการปวดก่อน จนกระทั่งยากลุ่มที่สองมีการออกฤทธิ์แล้วก็จะทำให้ใช้ยาในกลุ่มแรกลดน้อยลงและก็จะดีขึ้นในที่สุด กลุ่มยาที่ใช้ในการบรรเทาได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวด กลุ่มยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และกลุ่มยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้การใช้ยานั้นก็มีอาการข้างเคียงคือ กลุ่มยาแก้ปวด จะทำให้เกิดการง่วง ซึม งง ท้องผูก มีผลทำให้ตับอักเสบได้ ฉะนั้นการรักษาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ สำหรับการรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อจะใช้ในผู้ที่มีการอักเสบมากๆ และมีน้ำในข้อเยอะ ในกรณีนี้จะต้องมีการดูดน้ำในข้อออกก่อนแล้วฉีดยาเข้าไป”

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้การใช้ยาจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ ต้องกินยาหลังอาหาร ลดอาหารที่มีรสเค็มและเผ็ดจัด งดดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ มาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งของวิธีรักษาแต่จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วย มีปุ่มนูน บวม กระดูกบิดงอหรือว่าเริ่มมีอาการอักเสบเกิดขึ้น พบว่าถ้ายิ่งมีการปล่อยทิ้งไว้ยิ่งมีการอักเสบมากขึ้น การผ่าตัดจะช่วยในการแก้ไขเพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

** อยู่อย่างมีสุข กับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
อลิษา ขจรไชยกุล ดารานักแสดง เล่าว่า ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ตอนปี 2546 ก่อนหน้านี้แต่ไม่ไปพบหมอ อาการก็เป็นๆ หายๆ คิดว่าตัวเองนอนผิดท่า เดี๋ยวก็คงหาย แล้วก็ตัดสินใจเป็นหมอรักษาตัวเอง เยียวยาเอง ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน มีอาการปวดอยู่ 2-3 วันก็หาย กระทั่งในที่สุดก็เป็นถึงขั้นที่ว่าลุกเดินไม่ได้ โดยเริ่มเจ็บที่แขนแล้วขยับไม่ได้
 
“ปีแรกที่ตรวจเจอเราจะอยู่ในความดูแลของหมอตลอด หมอบอกว่าอะไรที่มันไม่ดีก็ให้ระวัง ในปีแรกจะกินยาหนักมาก หลังจากนั้นเราก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ เพราะมองว่าสิ่งที่เป็นนั้นคือเพื่อนใหม่ที่จะมาอยู่กับเรา เขามีพฤติกรรมอย่างไรเราต้องทำใจยอมรับ ทำตัวให้มีความสุข ศึกษาแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การดูแลตัวเองให้มากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มที่จะไม่ได้กินยาหนักแล้วเปลี่ยนเป็นการรักษาโดยใช้วิธีการฉีดยาเดือนละครั้ง แล้วอาการก็หายเลย หรือถ้ามีอาการก็จะโทรปรึกษาคุณหมอ หลังจากที่ได้รับการรักษามีอาการปวดเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ไม่มีอาการกำเริบอีก เพราะถ้ามีอาการปุ๊บ เราก็จะหยุดพฤติกรรมของเราแล้วอยู่นิ่งๆ ไม่ลุก ไม่นั่ง ไม่พับระหว่างข้อ ตอนนี้อาการก็ปกติ”

ด้าน ผศ.ดร.นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์ เล่าให้ฟังว่า เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มาประมาณ 16 ปี ครั้งแรกที่เป็นคือมีอาการขัดๆ ที่นิ้วมือเป็นอยู่อย่างนั้น 2 เดือน อาการก็ไม่ดีขึ้น เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ จึงตัดสินใจไปพบหมอ สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็เคยได้ยินมานานตั้งแต่เด็ก ๆแล้ว แต่ก็ไม่เคยสนใจว่าคืออะไร พอเรามีอาการปวดก็ไม่คิดว่าจะเป็นรูมาตอยด์ก็มาหาหมอ หมอก็รักษาโดยการฉีดยาเข้าในข้อแล้วอาการก็ดีขึ้น หนึ่งเดือนผ่านไปอาการก็กลับมาเป็นอีกอยู่อย่างนี้มา 2 ปี อาการก็ยังไม่หาย ก็เปลี่ยนหมอไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็มีคนแนะนำให้มาพบหมอเฉพาะทาง
 
“ปัจจุบันก็ยังมีอาการปวดเป็นระยะ ๆ แต่เราก็ใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ คนรอบข้างก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับรูมาตอยด์ คุณหมอบอกว่าเราต้องอยู่กับโรคนี้ให้ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะเรื่องอาหารจะรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง หันมารับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นและออกกำลังการด้วยการว่ายน้ำเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แล้วเราก็ทำความเข้าใจกับโรค เพราะต้องอยู่กับเจ้าโรคนี้ไปอีกนาน ”

เช่นเดียวกับ สุนทรี ประทุมวงษ์ ที่เล่าว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มานานกว่า 32 ปี อาการเริ่มแรกจะปวดที่กล้ามเนื้อหัวไหล่ แต่ก็ไม่มีอาการอะไรที่ผิดปกติเลย โดยจะมีอาการตอนกลางคืน ประมาณ 4-5 ทุ่ม จะเริ่มมีอาการปวด และจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ พอเช้ามาอาการก็จะหายไป คิดว่าอาการเหล่านี้เกิดจากการที่ตัวเองนอนผิดท่า หลังจากเริ่มมีอาการแบบนี้อยู่ประมาณ 10 วันก็ไปพบคุณหมอ แต่ก็ยังไม่พบความผิดปกติ หลังจากนั้นอาการปวดก็เริ่มมาที่ข้อศอก นิ้วมือ คอ จนกระทั่งเดินไม่ได้ แล้วอาการก็เริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งกระเพาะอาหารทะลุ กินยาก็ไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการฉีดก็ยังไม่ดีขึ้น อาการปวดก็เริ่มขยายออกไปตั้งแต่ต้นคอจนถึงเท้า เวลาเรานั่งแล้วจะเปลี่ยนท่านอนลำบากมาก เหมือนเป็นตุ๊กตาล้มลุก

“หลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ก็ตัดสินใจมารักษาที่กรุงเทพฯ กับหมอเฉพาะทาง อาการก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการรักษากับแพทย์แล้ว ยังรักษาด้วยการฝังเข็มร่วมด้วย เพื่อจะทำให้กล้ามเนื้อยืดและผ่อนคลายขึ้น”

ทั้งนี้ทั้งนั้น สุนทรี ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่เราจะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขร่วมกับการเป็นไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้นั้นต้องทำใจยอมรับในสภาพที่เป็น เพราะว่าการรักษาจะไม่หายขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น