xs
xsm
sm
md
lg

"เหยา-หลิว" บนเส้นทางสู่ "หอเกียรติยศ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิว เสียง
แม้ไม่สามารถไต่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ครั้งที่ 29 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหยา หมิง และ หลิว เสียง คือนักกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีนเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตทั้งคู่จะถูกจารึกชื่อสู่หอเกียรติยศ (ฮอล ออฟ เฟม) แดนมังกรแน่นอน

เหยา หมิง ได้ใบเบิกทางเข้าสู่วงการบาสเกตบอลตั้งแต่อายุได้เพียง 13 ขวบ ด้วยรูปร่างที่สูงเกินเด็กทั่วไปทำให้เจ้าหนูจากเซียงไฮ้ ไต่ระดับจากทีมเยาวชนขึ้นมาเล่นอาชีพกับทีมบ้านเกิด (เซียงไฮ้) ชาร์คส ในลีก “ไชนีส บาสเกตบอล แอสโซซิเอชั่น” (Chinese Basketball Association) หรือ ซีบีเอ (CBA) ในอีกสี่ปีถัดมา จากนั้น “อาเหยา” ก็ได้เปล่งประกายความหวังให้แก่วงการกีฬาจีนอย่างชัดเจน

หลังเล่นในลีก ซีบีเอ (CBA) อยู่ห้าปี เซ็นเตอร์ร่าง 7 ฟุต 6 นิ้ว (229 เซนติเมตร) ถูกทาบทามเข้าไปเล่นในลีกบาสเกตบอลอาชีพแห่งสหรัฐอเมริกา เอ็นบีเอ (NBA) เป็น ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ที่สร้างความฮือฮาด้วยการดราฟท์ “ลิทเทิล ไจแอนท์ส” เข้าลีกเป็นคนแรกของปี 2002 ถึงโดนกระแหนะกระแหนว่าการเลือกดังกล่าวเสมือนแผนการตลาดที่ วงการบาสเกตบอลอาชีพสหรัฐฯต้องการเปิดช่องทางค้าขายในเมืองจีนให้กว้างยิ่งขึ้น

แม้จะมีกระแสค่อนแคะแต่ เหยา หมิง ยังคงทำหน้าที่อย่างไม่ลดละ ได้เครดิตตั้งแต่ขวบปีแรกด้วยการถูกเลือกให้ติดทีมผู้เล่นหน้าใหม่ (รุคกี้) แห่งปี จากนั้นก็พิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับพา ร็อคเก็ตส์ เข้าเพลย์ออฟได้สำเร็จในปี 2004, 2005 และ 2007 แถมได้เล่นในเกมรวมดารา (ออล-สตาร์) 6 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2003-2008 ถือเป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้จีนในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง

“ซู จีเชง” นักวิเคราะห์การแข่งขันในจีนเคยออกมากล่าวถึงเพื่อนร่วมชาติ “เหยา ยอดเยี่ยมทั้งในและนอกสนาม เขาเป็นคนที่ดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้เล่นที่ดีเท่านั้น ผมว่าการที่ เหยา ไปเล่นในเอ็นบีเอเป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยยอดคนดูเอ็นบีเอในจีนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันการไปเล่นบาสเกตบอล ในระดับที่สูงอย่างลีกในสหรัฐฯ ก็สามารถยกระดับให้แก่ทีมชาติจีน”

อย่างไรก็ตาม ตลอดสามปีหลังมานี้ เหยา หมิง มีปัญหาบาดเจ็บ จนต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกเท้าซ้ายที่แตกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทว่าผู้เล่นวัย 27 ปี มุ่งมั่นรักษาตัวทุกวิถีทางทั้งศาสตร์ของการฝังเข็มและการนวดจนตัวเองสามารถกลับมาถือธงแดงเข้าสู่สนามเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันในกีฬาโอลิมปิก และก็ช่วยให้ยัดห่วงชายจีนผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ตามเป้า แม้ปราชัยต่อ ลิธัวเนีย ขาดลอย ถึงกระนั้น “แบรนด์ แอมบาสซาเดอร์” (Brand Ambassador) แห่งชาติก็ยังคงทำหน้าที่ออกมาอย่างไม่มีที่ติ สมกับเป็นนักกีฬาหมายเลข 1 (ตลอดกาล) ของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจาก เหยา หมิง นักกีฬาชาวจีนที่ได้รับการจับตามองและถือเป็นความหวังสูงสุดใน “ปักกิ่งเกมส์” แล้วยังมีนักกีฬาชายอีกหนึ่งรายที่แทบจะแบกเอาภาระของคนทั้งประเทศไว้บนบ่า เขาคือ “หลิว เสียง” นักกรีฑาวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตรชายผู้ประกาศศักดาลมกรดมังกรคว้าเหรียญทองที่ “เอเธนส์เกมส์” เมื่อสี่ปีก่อน จากการเป็นนักกรีฑาจีนคนแรกที่ประสบความสำเร็จในโอลิมปิกประกอบกับบุคลิกและใบหน้าที่หล่อคมคายจึงไม่น่าแปลกใจที่ชื่อของ “หลิว เซียง”จะเป็นขวัญใจวัยรุ่นจีนแทบจะทั้งประเทศ

แต่ถึงแม้จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หลิว เสียง ที่รับทรัพย์จากสปอนเซอร์รวมสูงถึง 163 ล้านหยวน (ประมาณ 815 ล้านบาท) และเป็นนักกีฬาจีนที่มีรายได้เป็นรองแค่ เหยา หมิง จากการสำรวจเมื่อปีก่อน กลับไม่ชอบทำตัวให้เป็นข่าว เนื่องจากตลอดสี่ปีที่ผ่านมา “อาหลิว” เก็บตัวฝึกซ้อมอย่างหนักภายใต้การดูแลของ ซุน ไห่ ผิง โค้ชคู่ใจ

แต่ความหวังชาวจีนทั้งชาติต้องสลายไปในพริบตา เมื่อ หลิว เสียง วัย 25 ปี ประสบปัญหาเจ็บบาดเจ็บเอ็นร้อยหวายข้างขวาพลาดการป้องกันแชมป์ต่อหน้าแฟนๆ ในสนามรังนกไปอย่างน่าเสียดาย ยังดีที่ “อาหลิว” ได้รับกำลังใจอย่างล้นหลามจากหลายฝ่ายรวมถึง เหยา หมิง ซึ่งสนิทสนมกันดี จนทำให้เขาออกมาประกาศพร้อมกลับมาทวงคืนความสำเร็จนำชื่อเสียงกลับสู่ประเทศต่อไป

แม้ในเวลานี้ทั้ง เหยา หมิง และ หลิว เสียง อาจไม่ใช่นักกีฬาจีนที่กวาดเหรียญรางวัลได้เป็นกอบเป็นกำเข้าขั้นตำนานอย่าง หลี หนิง นักยิมนาสติกชายที่คว้าไป 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ในลอสแองเจลิสเกมส์ เมื่อปี 1984 แต่ในอีกสี่ปีข้างหน้าผลงานและประวัติศาสตร์ในสนามแข่งที่พวกเขาจารึกไว้ด้วยฝีมือของตนเองนั้นน่าจะสั่งสมพร้อมส่งให้ “เหยา และ หลิว” ก้าวขึ้นไปสู่ “หอเกียรติยศนักกีฬา” หรือ “ฮอล ออฟ เฟม” ของสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นเส้นทางเดียวกับนักกีฬาผู้เป็นตำนานในอดีตอย่าง สีว์ ไห่ ฟง, หวง กั๋ว ถวน, ลั่ง ผิง, เติ้ง ย่า ผิง, เกา หมิ่น, หวัง จวิน เสีย, จู เจี้ยน หัว และ หลี หนิง เหล่าพันธมิตรผู้วิ่งคบเพลิงนำไปจุดในพิธีเปิดการแข่งขัน “ปักกิ่งเกมส์” ครั้งนี้

เหยา หมิง

กำลังโหลดความคิดเห็น