แพทย์ชี้ อนาคตอาจมีผู้เสียชีวิตจากหวัดใหญ่ 2009 แน่ ติวหมอทั่วประเทศ กำชับไม่ต้องตรวจเชื้อหาสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ประชาชนทั่วไป-ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ยันปัจจุบันมีพื้นที่ระบาดแค่ 3 จังหวัด กทม.-ชลบุรี-ปทุมธานี ด้านกรมควบคุมโรคโอดเงินตรวจหาเชื้อหวัดใหญ่ 2009 เกลี้ยง แถมยอดเป็นหนี้เพียบ สูงกว่า 4 ล้านบาท เตรียมหารือของบกลางแก้ปัญหา
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนตื่นตระหนกต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนแห่ไปขอตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ที่โรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้กับแพทย์และพยาบาลในการตรวจเชื้อหาสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ โดยแบ่งพื้นที่ประเทศไทยเป็น 2 ส่วนตามการระบาดของโรค คือ 1.จังหวัดที่มีการระบาดของโรคแล้ว ขณะนี้มีเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.ชลบุรีและ จ.ปทุมธานี
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า หากประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ที่ไม่ได้มีอาการป่วย หรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย เดินทางมาขอรับการตรวจเชื้อเพื่อหาสายพันธุ์ โรงพยาบาลจะไม่ดำเนินการตรวจสอบสายพันธุ์เชื้อ จะตรวจสอบเชื้อเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนักรุนแรง หรือกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเท่านั้น และจะตรวจสอบเพียงว่ามีการป่วยเป็นกลุ่มๆ หรือไม่ 2.จังหวัดที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งหมายถึงจังหวัดที่ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย หรือพบผู้ป่วยจำนวนน้อย ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เช่น จ.ภูเก็ต สงขลา ตรัง และเชียงใหม่ หากมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แพทย์และพยาบาลจะต้องดำเนินการซักประวัติผู้ป่วยว่าเดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาดของโรคหรือไม่ ภายในครอบครัวเดียวกันมีคนป่วยมากกว่า 3 คนหรือไม่ ในรอบ 1 สัปดาห์มีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เดินทางมาจากประเทศหรือไม่ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีประวัติดังกล่าวให้แพทย์เก็บสารคัดหลั่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหาสายพันธุ์เชื้อ จะได้ควบคุมไม่ให้เกิดผู้ป่วยพร้อมกันเป็นกลุ่มจำนวนมาก แต่ให้เกิดผู้ป่วยในอัตราน้อยที่สุด
“การที่กระทรวงต้องมอบแนวทางในการตรวจเชื้อให้กับแพทย์และพยาบาลเช่นนี้ เป็นเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทราบว่าป่วยไข้หวัดใหญ่ด้วยสายพันธุ์ไหน เนื่องจากการรักษาพยาบาลไม่มีความแตกต่างกัน เว้นแต่กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรง ซึ่งการตรวจเชื้อแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 3 พันบาท สถานการณ์ของโรคที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตรวจเชื้อทั้งหมด ขอให้ประชาชนเลิกแห่มาขอตรวจเชื้อที่โรงพยาบาล” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
**เชื่ออนาคตพบผู้เสียชีวิตแน่
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ประจำปีมีผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 500- 1,000 ล้านรายต่อปี โดยในจำนวนผู้ป่วย 1 พันคน จะมี 10 คนที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และในจำนวน 10 คน จะมี 1 คน ที่ร่างกายอ่อนแอจนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในอนาคตจะต้องมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ สธ.กำลังดำเนินการคือทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด
“เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคทั่วโลก เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครเจ็บตัวหรือเสียชีวิต แต่จะต้องทำให้เจ็บตัวน้อยที่สุด นี่คือ สิ่งที่ สธ.กำลังพยายามดำเนินการ ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ในพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี เป็นตัวอย่างที่ดีที่บ่งบอกว่าเชื้อไวรัสนี้มีความรุนแรงต่ำ เพราะผู้ป่วยมีอาการเหมือนการเป็นไข้หวัดใหญ่ทั่วไป จนไม่มีการผิดสังเกต กระทั่งเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นจึงมีการสงสัย เพราะหากเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงจนผู้ป่วยในพื้นที่นี้เสียชีวิต กระทรวงคงอยู่ไม่ได้แล้ว”รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดใหม่ทั่วโลก 100 ปีที่ผ่านมา พบว่า โรคระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกานั้น เชื้อไวรัสจะแพร่เข้ามาทวีปเอเชียใช้เวลาประมาณ 1-1.5 เดือน และจะมีการระบาดต่อเนื่องนาน 12-13 เดือน จึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ จนประชาชนมีภูมิต้านทานโรค หรือมีการพัฒนายารักษา และวัคซีนป้องกันโรคได้ สอดคล้องกับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ระบาดในเม็กซิโก สหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนเมษายน จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 1 เดือนเศษ เชื้อได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยติดจากนักท่องเที่ยว จนทำให้เกิดการติดเชื้อภายในประเทศและระบาดในคนหมู่มาก
** โอดเงินหมด ติดหนี้ค่าตรวจแล็บ
ขณะที่นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยาว่า ขณะนี้งบประมาณในการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการที่ตั้งไว้จำนวน 2 ล้านบาทต่อปี หมดแล้ว เนื่องจากต้องใช้ในการส่งตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีประชาชนขอให้มีการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้ออยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อราย โดยเร็วๆ นี้จะหารือกับ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ในการของบกลางเพิ่มเติม
“กรมควบคุมโรคไม่มีเงินในการจ่ายค่าตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการแล้ว ทำให้ต้องค้างจ่ายเงินในการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการที่ได้ส่งตรวจที่กรมวิทย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลตัวเลขค่าใช้จ่ายทั้งหมด เข้าใจว่า กรมวิทย์ฯเองก็มีค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้ออื่นๆ มากอยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีการวางแผนในการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยจะสุ่มตรวจเชื้อเฉพาะในกลุ่มที่มีความรุนแรง เพราะคงไม่สามารถตรวจเชื้อผู้ป่วยทั้งหมดได้”นพ.มล.สมชาย กล่าว
แหล่งข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่เป็นอย่างมาก ทำให้ยอดการส่งเชื้อตรวจที่ห้องปฏิบัติการสูงขึ้นประมาณ 200-300 รายต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายที่ส่งต่อมากจากโรงพยาบาลเอกชน จนถึงปัจจุบันคาดว่า ทำการตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วกว่า 1,000 ราย ขณะที่ค่าตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการหากเป็นการตรวจผลเบื้องต้นค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อราย แต่หากตรวจอย่างละเอียด ซึ่งมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าบุคลากร ค่าน้ำยา ประมาณ 4,000 บาทต่อราย เท่ากับขณะนี้เสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 4 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ผลการตรวจเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จึงถือว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจเชื้อทั้งหมดของผู้ป่วยที่มีอาการ แต่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
สำหรับสถานการณ์โลก องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อเช้าวันนี้ ตามเวลาในประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 สะสมทั้งหมด 35,928 ราย ใน 76 ประเทศ เสียชีวิต 163 ราย ได้แก่ เม็กซิโก 108 ราย สหรัฐอเมริกา 45 ราย แคนาดา 4 ราย ชิลี 2 ราย คอสตาริก้า สาธารณรัฐโดมินิกัน โคลอมเบีย กัวเตมาลา ประเทศละ 1 ราย