xs
xsm
sm
md
lg

“iRAP RIDER - ก้านกล้วย” 2 ทีมแชมป์หุ่นยนต์มหา’ลัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนชล นิธิสาชากุล-อรัญ แบล็ทเลอร์-ประพันธ์ คล้ายฤทธิ์ จาก iRAP RIDER
หลังจากรอคอยกันมาระยะหนึ่ง ในที่สุดการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยปี 2552 ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ก็จบลง โดยในปีนี้แชมป์หุ่นยนต์ระดับมหาวิทยาลัยมี 2 ทีม ได้แก่ iRAP RIDER จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ทีมก้านกล้วยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเขาขับเคี่ยวฝึกปรือฝีมือจนคว้าชัยมาครอง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาว่าก้าวต่อไปของแชมป์ระดับมหาวิทยาลัย จากนี้จะเดินไปในทิศทางใด

** iRAP RIDER ตอกย้ำยี่ห้อพระนครเหนือ
สำหรับ iRAP RIDER เป็นคำตอบที่ตอกย้ำแบรนด์หุ่นยนต์ฉบับพระนครเหนือ หลังจากรุ่นพี่ทีม iRAP_PRO สถาบันเดียวกัน คว้าชัยแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และกำลังฝึกซ้อมอย่างหนักในฐานะตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก ณ ประเทศออสเตรียในปลายเดือน มิ.ย.นี้

ทว่า เส้นทางของ iRAP RIDER ยังไม่สิ้นสุด เพราะพวกเขายังต้องทำการแข่งขันกับทีมอาชีวะเพื่อลุ้นเป็นตัวแทนเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติในรายการ ABU ROBOT CONTEST2009 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในกลางปีนี้ด้วย

ทีม iRAP RIDER ประกอบด้วย อรัญ แบล็ทเลอร์ (อลัน) ประพันธ์ คล้ายฤทธิ์(เบิร์ด) และธนชล นิธิสาชากุล (หัว) หลังจากเฝ้าดูการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับชาติมาหลายปี ก็ถึงตาสำแดงฝีมือเมื่อก้าวมาเป็นนักศึกษาวิศวะใต้ชายคาพระนครเหนือ

อลัน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual) บอกว่าหน้าที่ของเขาจะทำออกมาดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการซ้อมเพราะในเกมต้องใช้ความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นออโต้และหุ่นบังคับด้วยมือ เพื่อที่จะทำภารกิจให้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความสามัคคีอย่างมากระหว่างคนบังคับและหุ่นยนต์

สำหรับกติกาปีนี้ประเทศเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นให้ชื่อเกมว่า “ร่วมตะลุย ลั่นกลองชัย” หรือ Travel Together for The Victory Drum ซึ่งดัดแปลงมาจากการเดินทางสมัยโบราณในแดนอาทิตย์อุทัยที่ใช้เสลี่ยงเป็นพาหนะ โดยให้หุ่นยนต์สองตัวที่มีหุ่นอัตโนมัติเป็นตัวหน้า และหุ่นยนต์บังคับมืออยู่ด้านหลัง ซึ่งจะมีหุ่นออโต้อีก 1 ตัวขึ้นเสลี่ยงไปด้วย ระหว่างทางต้องขึ้นหุบเขาและเดินป่า หากทีมใดผ่านด่านไปตีกลอง 3 ใบได้ก่อนภายในเวลา 3 นาทีได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ

**หวังเป็นตัวแทนประเทศ
อลัน ให้ความเห็นว่า เมื่อเทียบกติกาการแข่งขันปีนี้กับปีที่ผ่านมา ซึ่งอินเดียเป็นเจ้าภาพนั้น การแข่งขันปีนี้จะยากกว่าตรงที่หุ่นอัตโนมัติและหุ่นบังคับจะต้องวิ่งไปพร้อมกันด้วยความเร็วที่เท่ากัน โดยจะต้องให้หุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งปลอดภัยและเพื่อทำภารกิจตีกลองให้ได้ ซึ่งในปีก่อนๆ สังเกตว่าหุ่นยนต์ 3 ตัวจะแยกหน้าที่อย่างชัดเจน กระนั้นสิ่งที่พวกเขาจะต้องทำให้ดีที่สุดคือ การฝึกซ้อม และพัฒนาความเร็วเพื่อที่จะแข่งกับทีมอาชีวะที่มักจะมีชื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับนานาชาติเกือบทุกปี

“เราคาดหวังอยากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่ญี่ปุ่น เพราะรุ่นพี่ก็เป็นตัวแทนไปแข่งหุ่นยนต์กู้ภัยโลกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในการแข่งขันที่ใกล้ๆ นี้ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” นักศึกษาวิศวะ หมาดๆ ยืนยัน

ด้านรศ.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี อาจารย์ที่ปรึกษาทีม iRAP RIDER คาดคะเนการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อหาตัวแทนประเทศไทย ว่า สิ่งที่ มจพ.จะประมาทไม่ได้ในการแข่งขันกับอาชีวะ ก็คือ การบริหารจัดการทีม และการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงของแต่ละทีม และด้วยความเป็นมือใหม่ของนักศึกษาที่ลงสนามทำให้การตัดสินใจหรือสมาธิของผู้คุมหุ่นยังไม่นิ่งพอ ดังนั้น ในเวลาอันกระชั้นชิดเช่นนี้นักศึกษาที่ลงสนามจะต้องกลับไปฝึกปรือเพื่อความแม่นยำและเพิ่มความเร็วของหุ่นยนต์ให้ดีมากขึ้น
“คู่ปรับที่สำคัญและน่ากลัวซึ่งน่าจับตามอง คือ ทีมลูกตาลเมืองเพชร กับทีมหอยหลอด แต่สิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำ คือ เร่งความเร็วของหุ่นยนต์ให้มากขึ้น และให้เด็กมั่นใจในการแข่งขันมากขึ้น” อ.ที่ปรึกษา iRAP RIDER กล่าว

** “ก้านกล้วย” แชมป์หุ่นทอยหลุมก็แหล่มแล้ว
สำหรับทีมแชมป์หุ่นยนต์ PLC TPA Competition มาในชื่อไทยๆ คือ ก้านกล้วย ประกอบด้วย ธเนศร์ ทองผาสุก (ต้น) นักศึกษาปีที่ 2 วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า สิทธิชัย มะโนมูล (สด) และนิติกร วงค์จันทร์แก้ว (วิว)นักศึกษาปี 5 วิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พวกเขาฝ่าด่านเพื่อนระดับอุดมศึกษาทั้งหมด 63 ทีมจาก 33 สถาบัน นับเป็นการแข่งขันที่ท้าทายในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ประยุกต์การควบคุมกลไกการเลียนแบบการเคลื่อนไหวของมนุษย์ สำหรับปีนี้ได้นำการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ยากในปัจจุบันอย่างทอยหลุมมาเป็นหัวข้อในการท้าทายความสามารถด้วย

ธเนศร์ น้องสุดท้องในทีมก้านกล้วย บอกว่า พวกเขาทั้งหมดแทบไม่รู้จักการละเล่นที่เรียกว่าทอยหลุมเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงต้องศึกษาข้อมูล กติกาการแข่งขันให้ละเอียดก่อนจะออกแบบหุ่นยนต์หรือเขียนโปรแกรม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้ใหญ่สนับสนุนการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในลักษณะนี้ขึ้นมา เพราะจะทำให้เด็กได้รู้จักและเรียนรู้การละเล่นบางอย่างที่พวกเขาไม่เคยได้ยิน โดยสามารถหยิบเทคโนโลยีที่ถนัดมาผสมกับความเป็นไทยได้

“การละเล่นพื้นบ้านกับหุ่นยนต์มาผสมกัน ถือว่าเป็นเรื่องดีและสร้างสรรค์ เพราะเด็กรุ่นใหม่แบบเราแทบไม่รู้จักการเล่นกีฬาทอยหลุมเลย ก่อนออกแบบหุ่นเราก็ต้องทำความรู้จักกีฬาชนิดนั้นก่อน แล้วก็มาผสมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราได้ความรู้อะไรเพิ่มมากขึ้น ผมว่ามีการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทนี้บ่อยๆ ก็ดี อย่างน้อยเด็กก็รู้อะไรมากกว่าการมุ่งแต่จะชนะกันอย่างเดียว”

ขณะที่ สิทธิชัย ฝากถึงรุ่นน้องในสายเทคโนโลยีว่า หากตั้งใจจะทำอะไรแล้วให้เดินหน้าลุยอย่างเต็มที่ วงการหุ่นยนต์ในประเทศไทยจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นเวทีแสดงฝีมือ และศึกษาพัฒนาการของเพื่อนจากสถาบันต่างๆ จะทำให้นักศึกษาในแวดวงเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น โดยการเข้าแข่งขันของพวกเขาในครั้งนี้ แม้ไม่ได้หวังจะไปสู่ระดับนานาชาติ แต่เมื่อกลับบ้านไปจะบอกน้องได้ว่าอะไรที่เรามีคนอื่นไม่มี และอะไรที่คนอื่นมีเราไม่มี ผลต่อยอดของทายาทจะได้เกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป

“ในฐานะรุ่นพี่วิศวะคนหนึ่งจะบอกถึงข้อผิดพลาดให้รุ่นน้องไปปรับปรุง ข้อผิดพลาดของเราในปีนี้ก็คือเครื่องมือ ของดีมีราคาแพง และหายาก โดยเฉพาะในต้นทุนอันจำกัดยิ่งตีกรอบพวกเราเข้าไปอีก ผมกำลังจะออกสู่ตลาดการทำงาน แต่น้องใหม่ก้าวเข้ามาจะต้องคิดนอกกรอบให้มากขึ้น และแก้ปัญหาที่เราเจอให้ได้นี่คือสิ่งที่ท้าทาย” สิทธิชัย ทิ้งท้าย

...บนหนทางสายเทคโนโลยี ยังมีกลุ่มนักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยที่เร่งพัฒนาฝีมือ ส่วนหนึ่งหากได้รับแรงหนุนที่ดีพวกเขาพิสูจน์ว่าสร้างชื่อให้สถาบันและประเทศชาติได้ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทุกปี แต่อย่างไรเสียแรงหนุนแรงดันนั้นจะต้องไม่แผ่วลงเสียก่อน เพราะนั่นหมายความว่า มันสมองของชาติไม่ได้รับการเหลียวแล...
 iRAP RIDER ใกล้ออกสตาร์ท เช็คสภาพเครื่อง

ขับเคี่ยวในสนาม
สิทธิชัย มะโนมูล- ธเนศร์ ทองผาสุก-นิติกร วงค์จันทร์แก้ว แชมป์หุ่นยนต์ทอยหลุม จากมช.

 เช็คแต้ม
สภาพสนามหุ่นยนต์ทอยหลุม
กำลังโหลดความคิดเห็น