xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยัน ทอท.ต้องจ่ายภาษี 5 พันล. ชี้คำวินิจฉัยให้ลดภาษีไม่ชอบ ดันเข้า ครม.ทบทวนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ยืนยันจัดเก็บภาษีจากการท่าอากาศยานฯ เต็มเม็ด 5,086 ล้านบาท ไม่มีลดหย่อน ชี้ คำวินิจฉัยคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในคดีแพ่ง ไม่ชอบ และทำให้ กทม.เสียหาย เตรียมนำเข้า ครม.ให้ทบทวนมติคณะกรรมการชี้ขาดคดีแพ่ง ใหม่ เผยอาจฟ้องร้องหาก ทอท.ยังดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายราคาเต็ม

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ถึงการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ว่า ตามที่สำนักงานเขตดอนเมืองได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนจากกรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งนำพื้นที่และอาคารบางส่วนให้ ทอท.และการบินไทย เช่าทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จึงเข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี

ในปีภาษี 2538-2551 ถูกเรียกเก็บภาษีเป็นเงินประมาณ 5,086 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีโรงเรือน 1,800 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนอื่น 3,200 ล้านบาท แต่กรมธนารักษ์ไม่พอใจกับจำนวนภาษีที่เรียกเก็บ จึงอุทธรณ์ขอลดภาษีของปี 2538-2549 คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ซึ่งมีปลัด กทม.เป็นประธาน ได้วินิจฉัยไม่ลดภาษีให้ตามที่กรมธนารักษ์อุทธรณ์ และผู้ว่าฯ กทม.ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น กรมธนารักษ์จึงนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และคณะกรรมการ ได้พิจารณามีความเห็นลดภาษีให้กรมธนารักษ์ ในส่วนของค่าผลประโยชน์อื่นๆ จาก 3,206.30 ล้านบาท เหลือ 303.09 ล้านบาท โดยเสนอ ครม.ทราบแล้ว

ทั้งนี้ คณะทำงานชุดพิเศษ ของ กทม.มีความเห็นว่า ควรนำเรื่องเสนอ ครม.ผ่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติสั่งการให้กรมธนารักษ์ ชำระภาษีโรงเรือนแก่ กทม.ตามจำนวนที่ กทม.เรียกเก็บ เนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในคดีแพ่งไม่ชอบ และทำให้ กทม.เสียหาย แต่หากนายกฯ ไม่เห็นชอบ หรือไม่อาจสั่งการได้เร็ววัน กทม.จะนำคดีฟ้องศาล เนื่องจากคดีใกล้จะขาดอายุความ และหากภายหลังนายกฯ มีคำสั่งประการใดก็จะปฏิบัติตามทันที

นายธราดล กล่าวอีกว่า กทม.เห็นว่า การชี้ขาดของคณะกรรมการชี้ขาดคดีแพ่ง ไม่เป็นไปตามหลักการประเมินภาษี ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ การนำเงินผลประโยชน์ตอบแทนอื่นมาบวกกับค่าเช่าเพียง 20% ทำให้ กทม.เสียหายขาดเงินภาษีที่ควรเก็บได้ จำนวน 2,903 ล้านบาท และหากถือแนวคิดการประเมินภาษีของคณะกรรมการชี้ขาดคดีแพ่ง เป็นแนวทางที่ถูกต้อง อาจทำให้รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของโรงเรือนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนในลักษณะเดียวกันร้องขอให้ลดภาษี กทม.อาจมีรายได้ลดลงปีละประมาณ 500 ล้านบาท รวมทั้งอาจทำให้การประเมินภาษีเป็นลักษณะ 2 มาตรฐานได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะผู้บริหารได้ให้สำนักการคลัง กทม.นำเรื่องรายงานให้ ครม.ทราบโดยเร็ว เพื่อขอให้ทบทวนการพิจารณาของคณะกรรมการชี้ขาดคดีแพ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น