xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งวอร์รูมสกัด “ชิคุนกุนยา” 14 จว.ภาคใต้ ตั้งเป้าสยบโรคใน 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ตั้งวอร์รูมสกัดชิคุนกุนยา 14 จังหวัดภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เพื่อสกัดโรคไม่ให้ระบาดขึ้นมาส่วนบนของประเทศ วางยุทธศาสตร์ปูพรมกำจัดทั้งลูกน้ำยุงลาย –ยุงตัวแก่ พร้อมๆกัน ทั้งยุงลายสวน ยุงลายบ้าน พร้อมกัน 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งเป้าให้โรคสงบภายใน 3 เดือน พร้อมทั้งเร่งผลิตโลชั่นตะไคร้หอม ผสมขมิ้นชัน ไพล น้ำมันมะพร้าว กันยุงกัดและบรรเทาปวดข้อ แจกชาวบ้านฟรี กำชับแพทย์ ให้เข้มงวดการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ อาการป่วยอาจรุนแรง

วันนี้ (6 มิถุนายน 2552) ที่ จ.ตรัง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ ผู้บริหาร เปิดศูนย์ปฏิบัติการโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 14 จังหวัดภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พร้อมประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประธานชมรม อสม. ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และมอบสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย ยาทากันยุง น้ำยาชุบมุ้ง เสื้อผ้าป้องกันยุง ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.นำไปใช้ในการควบคุมป้องกันโรค

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้แพร่ระบาดในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย และพบผู้ป่วยประปรายในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ สถานการณ์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึง วันที่ 2 มิถุนายน 2552 พบว่า จำนวนผู้ป่วยสะสม 24,029 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในการควบคุมโรค โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯหรือวอร์รูม ที่กรมควบคุมโรค เพื่อประเมินสถานการณ์ทั่วประเทศเชื่อมโยงกับสำนักงานควบคุมป้องกันโรค 12 แห่งทั่วประเทศทุกวัน ส่วนภูมิภาคตั้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เชื่อมโยงการทำงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภาคใต้ทั้ง 14 แห่ง เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังโรค สกัดกั้นการแพร่ระบาด การป้องกันและควบคุมโรค การดูแลผู้ป่วย ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นแนวป้องกันไม่ให้โรคระบาดขึ้นมาส่วนบนของประเทศ

ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลงแล้ว แต่ในภาคใต้ตอนบนกลับพบผู้ป่วยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการกำจัดยุงลาย พาหะนำโรค โดยกำจัดยุงลายตัวอ่อน ตัวแก่ ทั้งยุงลายสวน/ยุงลายบ้าน แบบปูพรมพร้อมกันทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อไม่ให้ยุงหลบหนีขึ้นมาพื้นที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งยุงทั้ง 2 ชนิดนี้ ออกหากินเวลากลางวัน ตั้งเป้าให้โรคสงบภายใน 3 เดือน ขอความร่วมมือประชาชน ขอให้ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด ก็จะปลอดภัยจากโรค

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในด้านการรักษาพยาบาล ได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แม้จะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ หากติดเชื้อโรค อาการอาจรุนแรงกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญในเด็กเล็ก เสี่ยงต่อการชักจากไข้สูงได้ เพราะโรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงมาก บางรายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสซึ่งการที่เด็กชักบ่อยๆ จะมีผลกระทบต่อสมองของเด็กในระยะยาวได้

ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในระยะเร่งด่วนนี้ จะให้โรงพยาบาลสงขลา ผลิตโลชั่นสมุนไพร กันยุง คือตะไคร้หอม ผสมไพลแก้ปวดข้อและผสมขมิ้นชัน เป็นสูตรรวมแบบทรีอินวัน ใช้ได้ทั้งการป้องกันยุง บรรเทาปวดข้อ และสมานผิว ลดการระคายเคือง และจะให้พัฒนาน้ำมันมะพร้าวผสมกับไพล และขมิ้นชันเพื่อบรรเทาปวด แจกจ่ายให้อสม.นำไปแจกตามบ้านเรือนฟรี และให้อสม.เผยแพร่ความรู้แนะนำให้ผู้ที่ป่วย ใช้ยาพาราเซตามอล ลดอาการไข้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงถึงชีวิตจะหายได้เอง และจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต

นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักกัดคนเวลากลางวัน หลังจากกัดผู้ป่วยแล้วจะมีเชื้ออยู่ในตัวยุง ยุงตัวเมีย 1 ตัว มีอายุประมาณ 1-3 เดือน เมื่อยุงมากัดคนปกติก็จะถ่ายทอดเชื้อให้ หลังรับเชื้อ 1 ถึง12 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และมีผื่นแดงตามร่างกาย แขน ขา ปวดข้อมากจนบางครั้งขยับไม่ได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือน การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่สู่คนอื่น ขอให้ผู้ที่ป่วยนอนในมุ้ง เพื่อไม่ให้ยุงกัด ซึ่งปริมาณเชื้อจะมีในเลือดมากในช่วงหลังป่วยมีไข้ 6 วันแรก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน มีเพียงรักษาตามอาการเช่นให้ยาลดไข้ และยาแก้ปวดข้อ

ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th หรือโทรสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น