สธ. ชี้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นปัญหาระดับชาติ ต้องเร่งแก้ไข ในปีนี้ทุ่มงบประมาณ 75 ล้านบาท รณรงค์ปรับเปลี่ยนการใช้วิถีชีวิต ลดการเกิดโรค และออกตรวจค้นหาผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคในชุมชนทั่วประเทศ ตั้งเป้าดำเนินการร้อยละ 50 ในปีนี้
วันนี้ (6 มิ.ย 52) ที่สนามกีฬากลาง (ทุ่งแจ้ง) จ.ตรัง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เปิดการรณรงค์ “คนไทยไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดีวิถีไทย” โดยนำทฤษฎี 3 อ.คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และ 2 ส.คือ งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา เพื่อพิชิตความอ้วน พิชิตพุง ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นำร่องภาคละ 1 จังหวัด ซึ่งจังหวัดตรังได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดต้นแบบรณรงค์ ของภาคใต้
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการป่วยของคนไทย แนวโน้มเกิดจากพฤติกรรมวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยในปี 2550 โรคไม่ติดต่อที่ติด 5 อันดับแรก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน วงเงินค่ารักษาโรคแต่ละโรคตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนโรคที่เป็นสาเหตุการตาย 4 อันดับแรก อันดับ 1 คือ มะเร็ง รองลงมาหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 120,000 คน สาเหตุของการเกิดโรคส่วนหนึ่งมาจากโรคอ้วนลงพุงคือ ผู้ชายมีเส้นรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร ผู้หญิงเกิน 80 เซนติเมตร ผลสำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ของกรมอนามัย ในปี 2550 พบว่า ผู้ชายอ้วนลงพุงร้อยละ 24 ผู้หญิงร้อยละ 61 ส่วนปี 2551 ผู้ชายเพิ่มเป็นร้อยละ 33.5 เพศหญิงลดลงเป็นร้อยละ 58
นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้โรคอ้วนลงพุงเป็นปัญหาระดับชาติ เนื่องจากเป็นสาเหตุการป่วย พิการ และตายก่อนวัยอันควร ในปีนี้ ทุ่มงบประมาณ 75 ล้านบาทจาก สปสช. โดยภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อลดอัตราการเกิดโรค โดยจะตรวจค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งในชุมชนและสถานบริการสาธารณสุข ตั้งเป้าค้นหากลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยงเกิดโรคอย่างต่อเนื่องร้อยละ 50 ครอบคลุม 76 จังหวัด
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรณรงค์คนไทยไร้พุงมุ่งสู่สุขภาพดีวิถีไทย ครั้งนี้ เพื่อสร้างกระแสให้คนไทย นำทฤษฎี 3 อ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ และ 2 ส งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา มาปรับใช้เพื่อพิชิตอ้วน พิชิตพุง ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเพิ่มการเคลื่อนไหวออกแรงและออกกำลังกาย เปลี่ยนการบริโภคอาหาร โดยกินผักให้มากขึ้น ลดการกินอาหารหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง โดยจะจัดทำจังหวัดต้นแบบ “คนไทยไร้พุงมุ่งสู่สุขภาพดีวิถีไทย” ภาคละ 1 จังหวัด