ไทยพบผู้ป่วยหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ เพิ่ม 3 คน เริ่มมีการระบาดภายในประเทศแล้ว หลัง 2 สามี-ภรรยา เที่ยวอเมริกา แพร่เชื้อให้ลูกชายวัย19 ปี ขณะนี้หายดีแล้ว เฝ้าระวังเข้มผู้สัมผัสใกล้ชิด 4 ราย คน สธ.ปรับใช้แผนบี ป้องกันคนไทยเสี่ยงติดหวัด2009 หลังพบมีการติดต่อในครอบครัว ชี้หากมีการระบาดกลุ่มใหญ่ในประเทศอาจต้องสั่งให้มีการปิดโรงเรียน
วันที่ 4 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานและพิจารณาปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของประเทศให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์
พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 3 ราย นับเป็นรายที่ 6,7 และ 8 โดยรายที่ 6 เป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี เป็นภรรยาของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 4 วัย 50 ปี มีประวัติเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐด้วยกัน โดยได้เดินทางออกจากชิคาโก ถึงประเทศไทยเมื่อ วันที่ 25 พฤษภาคม เริ่มมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย ระคายคอ ไม่มีไข้ เมื่อเดินทางผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกนจึงไม่สามารถตรวจพบได้ จากนั้นพักอยู่บ้าน 3 วัน จึงมีอาการไข้ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ขณะนี้อาการหายดีแล้ว แต่เชื้อได้แพร่ไปยังลูกชายอายุ 19 ปี ซึ่งถือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ นับเป็นรายที่ 7
“ได้รับรายงานยืนยันว่าผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่รายที่ 6และ 7 เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (4 มิ.ย.) เนื่องจากช่วงแรกมีความไม่ชัดเจนว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่หรือไม่ ส่วนรายที่ 8 เป็นหญิงไทยอายุ 20 ปี เริ่มมีอาการเจ็บคอ ก่อนออกเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ถึงประเทศไทยวันที่ 1 มิถุนายน เริ่มมีอาการคัดจมูก ไอ ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดังนั้น ในขณะนี้ถือว่าประเทศไทยมีการระบาดภายในประเทศแล้วแม้จะมีเพียง 1 รายเท่านั้น”พล.ต.สนั่นกล่าว
พล.ต.สนั่น กล่าวต่อว่า ดังนั้น คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงต้องมีการปรับแผนการเฝ้าระวัง การป้องกันโรคอย่าสงตรวจเข้ม ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยการดำเนินงานเน้น 3 เรื่อง คือ 1.ความร่วมมือของทุกหน่วยงานในการป้องกันควบคุมโรค โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคและวิธีปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง 2.ความโปร่งใสในการรายงานโรคและมาตรการป้องกันควบคุมโรค และ 3.การลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมีนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. เป็นประธาน จัดประชุมติดตามสถานการณ์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ได้ปรับมาตรการดำเนินงานให้เหมาะสม เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคต จะขยายวงกว้างต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด โดยทิศทางการแพร่ระบาดในทุกประเทศจะเป็นไปใน 3 ระยะ คือ ระยะแรก (สถานการณ์ เอ) มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศ การควบคุมทำได้โดยการแยกรักษา ให้ยาผู้สัมผัสเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นมาตรการที่สธ. ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว
นายวิทยา กล่าวว่า ต่อจากนี้ไทยจะต้องปรับมาตรการเพิ่มเป็น ระยะต่อมา (สถานการณ์ บี) คือ เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งหากควบคุมได้ดี การระบาดจะอยู่ในวงจำกัด พบผู้ป่วยจำนวนหลายสิบคนหรือไม่เกินร้อย แต่ยังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การควบคุมจะใช้มาตรการล้อมกรอบคือ ให้ยาทั้งผู้ป่วยและผู้สัมผัสโดยไม่ต้องตรวจยืนยัน หยุดเรียนหรือหยุดงาน แยกผู้ป่วยให้อยู่ในบ้าน เป็นต้น ส่วนแผนสุดท้าย (สถานการณ์ ซี) มีการแพร่ระบาดขยายต่อไปในวงกว้างภายในประเทศ มีการแพร่ระบาดข้ามเมืองหรือทั้งประเทศ มีผู้ป่วยจำนวนหลายพันหรือหลายหมื่นคน มาตรการจะใช้วิธีลดผลกระทบ เช่น เน้นดูเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ให้เฉพาะผู้ที่ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดงาน แทนการหยุดทั้งหมด ทั้งนี้ ไทยไม่ใช่แผนควบคุมการระบาดเดียวกับองค์การอนามัยโลก ที่ประกาศการระบาดอยู่ในระดับ 5
“สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือ ปรับใช้แผน บี เพราะมาตรการคัดกรองผู้ป่วยที่สนามบินใช้ไม่ได้ผลแล้ว เพราะมีรูรั่วมีผู้ติดเชื้อสามารถผ่านด่านตรวจเทอร์โมสแกนได้หลายราย โดยจะทำหนังสือเวียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามเฝ้าระวังอาการป่วยไข้ ของนักเรียน และลูกจ้าง พนักงาน หากป่วยเป็นหวัด แม้จะไม่มีไข้สูง ก็ต้องแจ้งให้ สธ รับทราบ เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันที โดยเฉพาะกรณีที่มีคนป่วยจำนวนมากอย่างผิดสังเกต ให้รีบแจ้งสธ. เพื่อดำเนินการคัดแยกผู้ป่วย เพื่อตัดตอนการระบาดของเชื้อ ส่วนจะต้องใช้มาตรการปิดโรงเรียน หรือไม่นั้น ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขึ้นอยู่กับความจำเป็น และประสานกรมประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง และคณะกรรมการอำนายการฯ จะต้องรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกฯ ได้กำชับมา” นายวิทยา กล่าว
ด้านนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในครอบครัว แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์กับผู้ป่วยทั้ง 2 รายแล้ว รวมถึงให้ยาต้านไวรัสกับผู้เฝ้าระวังใกล้ชิดอีก 4 ราย ซึ่งเป็น ลูก 3 คน และคนรับใช้ 1 รายด้วยเช่นกัน ซึ่งในจำนวนนี้ มีลูกชาย ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ด้วย แต่อาการล่าสุดผู้ป่วยครอบครัวนี้หายป่วยแล้ว และไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม
นพ.คำนวณ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 8 ที่เดินทางกลับจากท่องเที่ยวในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งไปกับเพื่อนคนไทยและต่างชาติ และในระหว่างที่พักในสหรัฐฯ มีเพื่อนร่วมห้องพักเป็นชาวสหรัฐฯ มีอาการป่วยเป็นไข้ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาในนิวยอร์ก มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ สธ. ได้เฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยรายนี้ 5 คน และได้ให้ยาต้านไวรัสทุกคนแล้ว โดยในจำนวนนี้ เป็นเพื่อน 1 ราย เริ่มมีอาการหวัด มีน้ำมูกแล้ว แต่ผลตรวจวิเคราะห์ยังไม่ออก ส่วนเพื่อนคนไทยที่ไปเที่ยวสหรัฐฯ ด้วยกัน ไม่ได้กลับมาเมือไทยพร้อมๆ กัน
"เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ติดกันได้ง่ายๆ แต่ต้องมีหลายปัจจัยร่วมกัน คือ 1.ได้รับเชื้อในปริมาณมากและต่อเนื่องอย่างยาวนาน 2.ภูมิต้านทานในร่างกาย ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีอัตราติดต่อจากคนสู่คนได้ 1: 1.5 คน ขณะที่โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ติดต่อได้ 1:3-4 คน โรคหัด ติดต่อได้ 1:10 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ประกาศให้ประชากรในประเทศหากมีไข้ให้พักอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่น โดยที่ไม่ต้องทางยาต้านไวรัสก็หายได้ เพราะข้อมูลวิชาการพบว่า ผู้ป่วย ร้อยละ 95 หายป่วยได้เองโดยไม่ต้องทานยาต้านไวรัส แต่สำหรับประเทศไทย ยังต้องให้ความสำคัญกับการรีบมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการป่วย และต้องได้รับยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วย และผู้สัมผัสใกล้ชิด" นพ.คำนวณ กล่าว