xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” เล็งขยายเวลา “หารายได้ระหว่างเรียน” เพิ่มภาคเรียนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จุรินทร์” ชงขยายเวลาหารายได้ระหว่างเรียน เพิ่มช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ย้ำต้องไม่เสียผลการเรียน เผยมีนักเรียน นักศึกษา อ้อนบริษัทเอกชนงดหักค่าประกันสังคม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวสรุปโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของนักเรียน นักศึกษาให้มีรายได้ระหว่างเรียนว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 32.9 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวฯ แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการการมีงานทำช่วงปิดภาคเรียน จึงร่วมกับภาคีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 23 แห่ง โดยส่วนราชการทั่วประเทศ จ้างนักเรียน นักศึกษา มาทำงานรวมทั้งสิ้น 28,666 คน แยกเป็น สังกัดสำนักงานปลัด (กศน.และสช.) จำนวน 13,080 คน สพฐ. จำนวน 10,297 คน สอศ.จำนวน 5289 คน สำหรับภาคเอกชน จ้างนักเรียน จำนวน 35,081 คน โดยนักเรียนจะได้รับค่าแรงวันละประมาณ 200 บาทขึ้นไป

ส่วนผลการประเมินการทำงาน ที่ผู้ดูแลโครงการรายงานว่า นักเรียน นักศึกษา มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ได้แก่ กิจกรรมกระเป๋าหนังสือสู่ประตูบ้าน กิจกรรมจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน/ท้องถิ่น และกิจกรรมค่าย “อ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขได้” ซึ่งนักเรียน นักศึกษา กระตุ้นให้ประชาชน เด็ก มีความกระตือรือร้นในการอ่านหนังสือด้วยตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เด็กเกิดทักษะคิดเป็น เขียนได้คล่อง อ่านคล่อง

นายจุริทร์กล่าวต่อว่า นอกจากจะทำงานช่วงปิดภาคเรียนใหญ่แล้ว ตนกำลังหารือกับนายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดให้นักเรียน นักศึกษา ทำงานช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ทั้งนี้ จากการฟังเหตุผลของภาคเอกชนเหมือนเขาต้องการให้เราทำต่อ ซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ตนคิดว่าปิดภาคเรียนที่ 1 น่าจะทำเพิ่ม ส่วนงบประมาณอาจใช้ในส่วนของโครงการเงินกู้ ถ้าดึงภาคเอกชนเข้ามาเพิ่มขึ้น จะช่วยประหยัดงบปะมาณ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่เป็นค่าการตลาดให้มาพบกัน ค่าจ้างในส่วนราชการจ่ายให้แก่นักศึกษา ส่วนเอกชนเขาจ่ายอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสนับหนุนให้นักเรียน นักศึกษา ทำงานในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ให้ปลัด ศธ.ไปศึกษา เพราะการให้เด็กทำงานในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ อาจมีข้อดีข้อเสีย เนื่องจากด็กต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทบทวนบทเรียนด้วย หากเด็กคนไหนมีความจำเป็นและมีภาระทางบ้านต้องทำงานต่อ เด็กทำได้อยู่แล้ว “อย่างเด็กคนหนึ่งทำงานร้านฟาสฟูตส์ชื่อดัง เขาสนใจทำงานต่อ ทางร้านยินดีรับทำงาน ตราบใดไม่มีผลกระทบต่อการเรียน”

ส่วนกรณีที่นักเรียน นักศึกษา เรียกร้องไม่ให้บริษัทเอกชนหักค่าประกันสังคม และยูนิฟอร์ม ระหว่างทำงานช่วงปิดภาคเรียน ในขณะที่ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐไม่มีการหักค่าประกันสังคม นายจุรินทร์ แสดงความเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวต้องคุยกับทางบริษัทเอกชนอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น