xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะล้างมลทินนักโทษคดีจิ๊บจ๊อย 5 ปีไม่ทำผิดลบประวัติอัตโนมัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สท.จับมือคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.หาแนวทางคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้พ้นโทษ เผยระบบชุมชน อบต. อบจ. เทศบาล มีส่วนสำคัญเรื่องการดูแลสภาพจิตใจ ประกอบอาชีพ เสนอจัดทำข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงถึงความต้องการช่วยเหลือจากผู้พ้นโทษ แนะทำผิดเล็กน้อยติดคุกไม่เกิน 1 ปี แล้วไม่ทำผิดซ้ำใน 5 ปี ควรลบล้างมลทินโดยอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการสมัครงาน รับราชการ

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่โรงแรมอเดรียติคพาเลส สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้พ้นโทษ” โดยมีผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เทศบาลเมือง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เรือนจำกลางจังหวัด คุมประพฤติจังหวัด จัดหางานจังหวัด ศูนย์พัฒนาสังคมจากจ.เพชรบุรี ลำพูน สุราษฏร์ธานี อุบลราชธานีรวม 120 คนเข้าร่วม

โดยนายกิตติ สมานไทย ผอ.สท. กล่าวว่า กลุ่มผู้พ้นโทษที่กลับสู่สังคมมักประสบปัญหาการยอมรับทั้งจากครอบครัว สังคม การประกอบอาชีพ รวมถึงความมั่นคงในชีวิต เป็นผลให้กระทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่เรือนจำอีก บางรายอยู่ในลักษณะที่เป็นภาระต่อครอบครัว ดังนั้นทุกภาคส่วนมีบทบาทในการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้พ้นโทษเห็นคุณค่าในตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนภาระเป็นพลัง ทั้งนี้ สท.ได้ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศึกษารูปแบบการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้พ้นโทษ และนำรูปแบบที่ได้ไปทดลองปฏิบัติในพื้นที่นำร่องเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมก่อนขยายผล โดยปี 2551 ทดลองนำร่องที่ จ.ตราด, จ. สมุทรสงคราม และในปี 2552 ทดลองปฏิบัติใน จ.เพชรบุรี, ลำพูน, สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี

รศ.ศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. เปิดเผยถึงผลการวิจัย “รูปแบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาสเฉพาะกลุ่มผู้พ้นโทษ” ว่า ระบบชุมชน สังคมรอบข้างโดยเฉพาะ อบต. อบจ.เทศบาลมีส่วนสำคัญในการตระหนักรู้และช่วยเหลือทั้งการดูแลด้านจิตใจ การประกอบอาชีพ รวมถึงความร่วมมือจากวัดในการให้ที่พักชั่วคราว โดยให้ พมจ.เป็นผู้ประสาน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยศึกษาถึงกลไกการรองรับกลุ่มผู้พ้นโทษอย่างเป็นระบบ ทั้งที่แต่ละปีมีผู้พ้นโทษออกมาเป็นหมื่น ทำให้จำนวนไม่น้อยกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าสู่เรือนจำอีก นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงถึงความต้องการช่วยเหลือจากกลุ่มผู้พ้นโทษ

“การถูกกีดกันจากการประกอบอาชีพ และรับราชการ เป็นอีกสิ่งที่ควรปรับแก้ ในประเด็นคนที่ผิดเล็กน้อยจำคุกไม่เกิน 1 ปี หากพ้นโทษไปแล้ว 5 ปี โดยไม่กระทำผิดซ้ำ ควรจะล้างใบแดงได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอพ.ร.บ.ล้างมลทิน ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีประชากร 120 ล้านคน แต่มีผู้ต้องขังในเรือนจำเพียง 70,000 คน เนื่องจากมีกระบวนการของชุมชนและอาสาสมัครช่วยกันดูแลอย่างเป็นระบบ ขณะที่ไทยมีประชากรเพียงครึ่งหนึงของญี่ปุ่น ประมาณ 60 ล้านคน แต่มีผู้ต้องขังถึง 1.5 แสนคน สะท้อนถึงกระบวนการดูแลคนเหล่านี้โดยเฉพาะหลังพ้นโทษอาจจะบกพร่อง” รศ.ศักดิ์ชัย กล่าว

รศ.ศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า คนในครอบครัวมีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจ เพราะผู้พ้นโทษมักมีปมด้อย ไม่เหลือศักดิ์ศรี เกินกว่าครึ่งของผู้พ้นโทษไม่ได้กระทำความผิดโดยสันดาน หากคนเหล่านี้ได้รับการดูแลที่เป็นระบบก็สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า สำหรับผลการศึกษาแนะนำว่าหลังจากพ้นโทษออกมา กรณีไม่มีปัญหาทางกายและจิต ส่งต่อไปยังกลไกทางสังคมโดยผ่านหน่วยงานของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนผู้มีปัญหาจะต้องผ่านการกลั่นกรองฟื้นฟูปัญหาทางกายและจิต และส่งต่อผู้เชี่ยวชาญพิเศษหากต้องการใช้ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วส่งต่อไปยังเครือข่ายในสังคม ซึ่งเครือข่ายสังคมประกอบด้วย ครอบครัว เพื่อนฝูง ชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น