หากละไว้เพียงสองพยางค์แรก คำ“ขี้-เหร่ ” ย่อมสื่อความหมายชัดแจ้งไม่พลิกพลิ้ว ประกาศชัด ยึดมุมคนละฟากกับความสวย ต่อเมื่อลงท้ายด้วย “เนะ” ความหมายพลิกกลับทันที เพราะในภาษาญี่ปุ่น คำซึ่งออกเสียง “ขี้-เหร่-เนะ” หมายความว่า...สวย
นอกจากอุดม แต้พานิช ผู้หยิบจับนำคำ “ขี้เหร่เนะ” มาล้อในงานนิทรรศการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้ว เราขอเป็นอีกคนหนึ่งที่หยิบยืมภาษาดิ้นได้ มี 2 มุมมองในคำเดียวนี้ มาเอ่ยอ้างถึง เพียงเพื่ออยากเชื่อมโยง บอกกล่าวคุณว่า โมงยามนี้ “Ugly dolls” เหล่าตุ๊กตาหน้าตาพิลึกกึกกือกำลังก่อตัว เติบโต สะกิดขอคำตอบจากใจคุณให้พอคันๆ ว่าจะมองเห็นเป็นขี้เหร่ หรือมีคำเนะต่อท้าย...
............
สวยหลบไป
ราวกับว่ายุคสมัยแห่งความเพอร์เฟกต์ของสัดส่วนแบบอกตู้มๆ เอวคอดกิ่ว ตะโพกผายดึงดูดสายตาตามสไตล์ตุ๊กตาบาร์บี้ กำลังถูกสั่นคลอนอย่างไรอย่างนั้น
ไม่หรอก แค่น้องตุ๊กตาบลายธ์แก้มป่อง-หัวโต-ตาตั๊กแตน ยังไม่พอโค่นบัลลังก์เจ้าหญิง อาจเพราะเหตุนี้ กองทัพตุ๊กตาแสนพิลึกจึงผนึกกำลังกันเดินหน้ามาให้เราลองเปิดใจ โอบอุ้ม และสวมกอดไว้ในเขตอ้อมแขน
จริงอยู่ ไม่ว่าสวยหรือแย่ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ดูท่าว่าคนที่มองเห็นเจ้าพวกตัวประหลาดนี้ “ขี้-เหร่-เนะ” คงมีอยู่ไม่น้อย หาไม่ เหล่า Ugly dolls ที่คล้ายจะอยู่กึ่งๆ ระหว่างน่ากอด-น่าชัง คงไม่เคลื่อนขยายวงความนิยมอย่างน่าจับตา นับเป็นเครื่องการันตีและบอกเล่าปรากฏการณ์นี้ได้ว่า ถ้าเส้นกราฟอุปสงค์ไม่สูงขึ้น แล้วอุปทานจะเพิ่มขึ้นอย่างไรไหว
เนื่องด้วยเมื่อลองเหลียวหน้า แลหลัง ไปรอบตัวยามเดินท่องตลาดนัดแบกะดินไม่ว่าจากหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์ เรื่อยมาถึงแผงลอยย่านสยามสแควร์ยามราตรี ทั้งลองเลียบเลาะนานาๆ งานเทศกาลอินดี้ ไม่ว่ารุ่นเก๋าอย่างแฟตเฟสติวัล หรือตลาดนัดอินดี้ ณ ย่านหรูใจกลางเมืองอย่างหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ ยังไม่พอ ต่อเนื่องไปถึง 'ข้าวสารโรด' ถนนที่ราตรีไม่เคยหลับใหล หากสังเกตสักนิด ย่อมแลเห็นเหล่าอั๊กลี ดอลล์ รูปร่างพิลึกกึกกือ หลากหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดจิ๋วสำหรับห้อยโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงไซส์ใหญ่กอดแล้วอุ่นใจ คอยแทรกตัวแฝงกายอยู่อย่างโดดเด้ง ในพื้นที่เล็กๆ ที่แล้วแต่ใครจะหันมาพบสบตา
พร่ำไปทำไมมี ไปเปิดเปลือยมนต์เสน่ห์ตุ๊กตาพิลึกกันให้ชัดขึ้นกว่านี้ดีกว่า ด้วยปากคำของเหล่าผู้สร้างสรรค์ตัวประหลาด ที่เรามีโอกาสได้ไถ่ถาม
"จุดขายสำคัญของตุ๊กตาแปลกประหลาดเหล่านี้ก็คือ มันไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป คนทำไม่ได้เมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปในเชิงพาณิชย์มากเท่ากับการขายไอเดีย ขายความคิดสร้างสรรค์ ใส่ใจกับผลงานเสมือนเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เพราะเหตุนี้ จึงทำให้ตุ๊กตาแต่ละตัวมีเอกลักษณ์ มีดีไซน์ที่ต่างกัน"
เป็นทรรศนะจาก ธวัช พันธุ์เจริญลักษณ์ สถาปนิกหนุ่มและดีไซเนอร์ ไดเร็กเตอร์ แห่งบริษัท “เล่นอะไร” บริษัทที่เปิดตัวสินค้าได้อย่างน่าพอใจในงานแฟตเฟสติวัล หากคุณเคยเห็นฟิกเกอร์ตัวจิ๋ว ที่แม้จะมีความแปลกแหวกแนวในแบบฉบับเฉพาะตัว ทว่ามองปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็น ป๊อด-โมเดิร์น ด็อก, แอ๊ด คาราบาว, ปาล์มมี่ก็มีด้วยเอ้า นั่นล่ะผลงานของ "เล่นอะไร" ยังไม่นับคนดังอื่นๆ อีกเพียบที่ถูกนำมาแปลงโฉมในแบบฟิกเกอร์อารมณ์กวนยิ้ม
ระยะเวลาราว 5 ปี นับแต่ก่อตั้งบริษัทร่วมกับเพื่อนๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันได้ว่า ฟิกเกอร์ที่พวกเขาร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นนั้น ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากเหล่าผู้ชื่นชอบความแปลกใหม่ ซึ่งฟิกเกอร์ หรือตุ๊กตาในแบบของธวัชและเพื่อน นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของคนกลุ่มนี้
ความเห็นของเขา สอดคล้องกับความตั้งใจของ มนสิชา ปั้นทรัพย์ หรือ สิ เจ้าของแบรนด์ sikamon ตุ๊กตาทำมือหน้าตาประหลาด แต่ในความประหลาดนั้นแฝงไว้ซึ่งความน่าเอ็นดูมากกว่าความน่าเกลียดน่ากลัว เราเชื้อเชิญเธอลงนั่งสนทนาในเย็นย่ำวันหนึ่ง ณ ArtGorillas ArtGallery แกลเลอรี่เล็กๆ ซึ่งแทรกตัวอยู่บนชั้น 2 ของโรงภาพยนตร์ลิโด้ แกลเลอรี่ที่วันนี้เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดแสดงงานนิทรรศการ “เทศกาลตุ๊กตาใต้ดินครั้งที่ 2” ซึ่งรวมผลงานตุ๊กตาประหลาดไว้มากมาย ราวกับยกขบวนพาเหรดหลุดออกมาจากโลกจินตนาการสุดขั้ว และตุ๊กตาจากฝีมือของสิ คือหนึ่งในผลงานจากศิลปินทั้งหมดกว่า 70 ชีวิต ที่นำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้
...แปลกแต่น่ากอด คือความรู้สึกแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาเมื่อเราได้พบกับตุ๊กตาของเธอ มันดูเหมือน...อะไรก็บอกไม่ถูก รู้แต่ว่ามีเสน่ห์บางอย่างดึงดูดให้เข้าใกล้ อยากลูบ...คลำ ขยำ ขยุ้ม ให้หนำใจ
ให้ตายเหอะ มันทั้งอัปลักษณ์และน่ารักน่ากอดในคราวเดียว เจ้าตุ๊กตาที่ดูอั๊กลี ขี้ริ้วแต่มองบางที ‘ขี้เหร่...เนะ’
“โดยนิสัยส่วนตัวแล้ว เราเป็นคนชอบอะไรแปลกๆ ฉีกออกจากแบบเดิมๆ แหวกแนว อย่างเช่นตุ๊กตาหมี ปกติต้องขาสั้นแขนสั้น เราก็ดัดแปลงให้มีแขนขายาวเก้งก้าง แต่ละข้างก็ยาวไม่เท่ากันด้วย อาจเพราะเป็นแบบนี้ บางคนเขาเลยเรียกตุ๊กตาของเราว่า ‘ตุ๊กตาอัปลักษณ์’ เป็น ‘อั๊กลี ดอลล์’ เราก็ไม่โกรธนะ เพราะมันขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละคน แล้วเราก็ชอบที่มันประหลาด เพราะยังไม่อยากให้มันเป็นงานพาณิชย์มีรูปแบบซ้ำๆ วางขายเยอะๆ แต่เราอยากให้มันมีแค่ตัวเดียวในโลก ”
สิเอ่ยกับเราพร้อมรอยยิ้ม ขณะที่ ธวัช เพิ่มเติมถึงความนิยมของตุ๊กตาประหลาดผ่านงานนิทรรศการ เทศกาลตุ๊กตาใต้ดิน ว่า
"ครั้งแรกเราจัดเมื่อปี 2007 ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดแค่ 4 ชั่วโมง จากบ่าย 3 โมง ถึง 1 ทุ่ม มีผลงานจากศิลปิน 46 คน แต่ครั้งนี้ จัดนานเกือบเดือน และมีผลงานจากศิลปินมากถึง 70 กว่าคน แล้วก็เปลี่ยนสถานที่มาจัดที่ลิโด"
ในฐานะส่วนหนึ่งของการเป็นโต้โผใหญ่ รวบรวมพลพรรค เพื่อนพ้องศิลปิน นักออกแบบ นักวาดการ์ตูน มาร่วมกันจัดแสดงผลงานในนิทรรศการเทศกาลดังกล่าว พอจะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งระยะเวลาของการจัดแสดงงานและจำนวนศิลปินเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว รวมทั้งสถานที่ซึ่ง "เข้าถึง" คนหมู่มาก คล้ายเป็นประจักษ์พยานที่ไม่อาจปฏิเสธว่า นับวัน ก็ยิ่งมีคนหลงใหลได้ปลื้มเจ้าตัวประหลาดกันมากขึ้น
ในความอัปลักษณ์
"สวยก็คือสวยค่ะ จบ! มันไม่สื่ออะไรเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าตุ๊กตาสวยๆ อย่างบาร์บี้ไม่มีเอกลักษณ์นะคะ ก็ความสวยนั่นแหละคือเอกลักษณ์ของบาร์บี้ แต่ในโลกความเป็นจริงจะมีใครที่สวยเพอร์เฟกต์อย่างนั้น มันจับต้องไม่ได้ ในความรู้สึกเรานะ ต่างจากตุ๊กตาประหลาดๆ หน้าตาน่าเกลียดที่มันทำให้เรารู้สึกเอ็นดู ก็เพราะความประหลาด ขาดๆ เกินๆ ของมันนั่นแหละ ทำให้มันน่ารักน่าเอาใจใส่ อย่างเช่นบางตัวแขนขาด ลูกตาหลุด ปากเบี้ยว หูแหว่ง แหม น่าเอ็นดูออกจะตายไป จริงไหม? ถ้าสวยสมบูรณ์แบบอย่างบาร์บี้แล้ว เราก็ไม่เกิดความรู้สึกแบบนี้ "
วิราณี ชินหาด หรือ กิ๊บ แม่ค้าสาวสวยเจ้าของแผงสร้อยข้อมือถักแห่งตลาดน้ำอัมพวา จ. สมุทรสงคราม บอกเล่าความรู้สึกของเธอที่มีต่อตุ๊กตาประหลาดอย่างอารมณ์ดี ก่อนสะท้อนมุมมองของคนรักอั๊กลี ดอลล์ ที่เชื่อมโยงไปถึง "ตัวตน" และ "สังคม" ได้อย่างน่าสนใจ
"สิ่งแรกเลยที่ทำให้เราสะดุดตา และกลายเป็นความชื่นชอบตุ๊กตาพวกนี้ก็คือ หน้าตาของมันนั่นแหละ มันมีความแปลก เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรารู้สึกว่ามันสื่อให้เห็นถึงตัวตนของคนทำ ว่าเขาเป็นคนแบบไหน สัมผัสอารมณ์เขาได้ว่าทำมันขึ้นมาด้วยความสนุก สะท้อนบุคลิกของเขาด้วย ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปถึงคนที่ซื้อตุ๊กตาตัวนั้นว่าเป็นคนแบบไหน เชื่อมโยงต่อเนื่องไปไกลกว่านั้นได้อีก คือถ้าคนที่ซื้อตุ๊กตาตัวนั้น ซื้อเพื่อนำไปฝากคนอื่น ไม่ว่าฝากเพื่อน ฝากแฟน ก็แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความใส่ใจในรายละเอียด อาจมองเห็นเสน่ห์อะไรบางอย่างในตุ๊กตาตัวนั้นแล้วเห็นว่ามันเหมาะกับคนพิเศษของตัวเอง"
สำคัญกว่านั้น กิ๊บมองว่า การที่คนเปิดใจรับและรักเหล่าตุ๊กตาพิลึกเหล่านี้อาจแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้คนในสังคมเราเปิดใจกว้างมากขึ้น กล้าที่จะแปลกแหวกแนว มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง กล้าสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่หลุดจากกรอบเดิมๆ และไม่อายที่จะบอกใครๆ ว่า
"ฉันเป็นของฉันแบบนี้แหละ ฉันชอบตุ๊กตาขาเดียว"
สุขประหลาด
"จินตนาการของเราไม่ถูกจำกัด" คือนิยามสั้นๆ ที่กิ๊บมอบให้กับความหลงใหลที่เธอมีต่อตุ๊กตาอั๊กลี ด้วยความที่มันขาดๆ เกินๆ ตรงโน้นเบี้ยว ตรงนู้นแหว่ง จึงทำให้รู้สึกสนุกที่จะจินตนาการว่ามันเป็นตัวอะไรกันแน่
เป็นมุมมองของคนซื้อซึ่งพ้องกันกับมุมมองของคนสร้างอย่าง สิ ที่บอกแก่เราพร้อมประกายวิบวับในแววตายามเอื้อนเอ่ยถึงผลงานของตัวเธอเอง
"ตุ๊กตาที่เราทำขึ้นมา เราแอบตั้งชื่อให้ทุกตัวเลยนะ เป็นชื่อที่เรารู้อยู่ในใจ และก็มีแค่เราที่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นตัวอะไร แต่เวลาลูกค้ามาซื้อ เราจะไม่เฉลยหรอกว่าเป็นตัวอะไร เพราะสนุกและมีความสุขเวลาที่ได้ฟังเขาทาย เห็นเขาช่วยกันคิด หาคำตอบ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเห็นมันเป็นอะไรก็ตาม ขอเพียงคุณสนุกกับการที่ได้จินตนาการ และรักในความแปลกประหลาดของมัน แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว"
..............
'มีความงามซ่อนไว้...ในความอัปลักษณ์’
นักเขียนการ์ตูนหนุ่มน้อยผู้หนึ่ง เคยจำกัดความคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนประหลาดๆ ของเขาเอาไว้เช่นนั้น และเราก็เห็นว่ามันเข้ากันดี กับเจ้าตุ๊กตาเหล่านี้
…แม้ดูพิลึกกึกกือ แต่ก็...ไม่อาจละสายตา
...............
เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล