xs
xsm
sm
md
lg

ก.ค.ศ.เคาะเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ เน้นวินัย-ผลงานพัฒนาผู้เรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ค.ศ.ไฟเขียวเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ ให้ประเมินวินัยคุณธรรมจริยธรรม จากประวัติรับราชการ และคำรับรองของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ด้านความรู้ ความสามารถ พิจารณาจากประจักษ์พยาน แฟ้มสะสมงานต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และด้านผลการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ร้อยละ 60 และผลงานวิชาการ ร้อยละ 40 ย้ำเน้นผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนมากกว่าผลงานเอกสาร เตรียมประชาพิจารณ์ก่อนประกาศบังคับใช้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ (ว 25 ปี 2548 และ ว 2 ปี 2551) ตามที่ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ในส่วนของคุณสมบัติของผู้ขอรับการประเมินนั้น เห็นควรให้ผู้ขอรับการประเมินต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและวิทยฐานะ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยาฐานะ โดยให้ยื่นขอรับการประเมินได้เมื่อได้รับเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำของวิทยฐานะที่ขอรับการประเมินไม่เกิน 1 ขั้น ส่วนถ้าขอรับการประเมินด้วยวิธีพิเศษ ผู้ขอรับการประเมินจะต้องมีเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำของวิทยฐานะที่ขอรับการประเมินไม่เกิน 2 ขั้น

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินได้กำหนดให้มีการประเมิน 3 ด้าน ดังนี้ ด้านวินัยคุณธรรมจริยธรรม พิจารณาจากประวัติการรับราชการ (ก.พ.7) และคำรับรองของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน เกณฑ์การตัดสิน ใช้เกณฑ์ผ่านและไม่ผ่าน ด้านความรู้ ความสามารถ พิจารณาจากประจักษ์พยาน แฟ้มสะสมงานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองและพัฒนางานในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องได้คะแนนประเมินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และด้านผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มีค่าน้ำหนักร้อยละ 60 พิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ/หรือผลการทดสอบของหน่วยงานที่แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนได้มีการพัฒนาด้านการเรียนรู้หรือพัฒนาการด้านอื่นๆ

ส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ มีค่าน้ำหนักร้อยละ 40 เป็นรายงานการศึกษาค้นคว้า หรือผลการวิจัยในชั้นเรียนที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนของผู้เรียน มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป โดยเกณฑ์ตัดสินด้านนี้ จะต้องได้คะแนนประเมินผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 คะแนนผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 และคะแนนรวมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการประเมินนั้น กำหนดให้มีกรรมการประเมิน 3 คนต่อผู้ขอ 1 ราย และประเมินทั้ง 3 ด้าน โดยวิทยฐานะชำนาญการ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาให้ความเห็นชอบ, วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ, วิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ให้ยื่นขอรับการประเมินได้รอบปีละ 1 ครั้ง และกำหนดให้ขอเลื่อนนข้ามวิทยฐานะด้วยวิธีพิเศษจากวิทยฐานะชำนาญการเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญได้

“เกณฑ์ใหม่ดังกล่าวเน้นประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลักมากกว่าเน้นผลงานทางเอกสาร ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.จะนำต้นร่างดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำมาจัดทำเป็นประกาศหลักเกณฑ์วิทยฐานะหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะประธาน ก.ค.ศ.ลงนามประกาศใช้ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น