xs
xsm
sm
md
lg

กลเม็ดเด็ดสะระตี่‘จ่ายเงิน แจกวัว’ แลกเก้าอี้ อ.ก.ค.ศ.ก่อนถอนทุนคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ….ผ่าขบวนการผลประโยชน์ เลือกตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ (จบ) โดย...คีตฌาณ์ ลอยเลิศ


ข้อมูลที่ออกมาจากปากคำของ “คนวงการครู”ตามเวทีเสวนาต่างๆ นั้น มีมาอย่างต่อเนื่อง แฉกันว่าคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่ มีการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการโยกย้ายครู โดยมีสูตรการคิดคำนวณตามระยะทางที่ขอย้ายไป อยู่ที่กิโลเมตรละ 500-1,000 บาท

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการเปิดเผยของ “ศ.ศรีราชา เจริญพาณิช” เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการเสวนา "องค์กรครู : องค์กรเพื่อการพัฒนาครูและการศึกษาของชาติจริงหรือ" ที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นหน่วยงานที่มีเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับ 3 โดยเฉพาะเรื่องการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์แลกกับการแต่งตั้งโยกย้าย หรือเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งอัตราการจ่ายไม่แตกต่างจากที่ครูออกมาแฉกันเอง ว่าคิดตามกิโลเมตร หรือหากย้ายอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันราคาตกลงกันได้ที่ 1-5 แสนบาท แต่หากเป็นการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน ยิ่งย้ายไปยังโรงเรียนใหญ่ เขตพื้นที่ในเมืองราคาพุ่งไปถึง 1-2 ล้านบาททีเดียว

จากการพูดคุยกับแหล่งข่าว พบว่ากระบวนการ “ครูกินครู”นั้น ถูกวางแผนเริ่มต้นมาตั้งแต่การเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ด้วยซ้ำ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งมีการจ่ายเงินกันวันเลือกตั้ง หน้าหน่วยเลือกตั้งหัวละ 500-1,000 บาท ซึ่งการซื้อเสียงมีมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบางพื้นที่จะตกลงกันด้วยวาจาไว้ก่อน เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครฯ จะนำวัวหรือควายไปผูกทิ้งไว้ให้ในหมู่บ้าน หากผลการเลือกตั้งออกมาตามที่ตกลงกันไว้ ก็สามารถล้มวัว ล้มควายกินเลี้ยงกันได้ทันทีเลย

แหล่งข่าวคนเดิม ยังเปิดเผยด้วยว่า เหตุที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการซื้อเสียงรุนแรง เนื่องจากการเมืองของครูไปผูกกับการเมืองสนามใหญ่ ผู้สมัคร อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่บางราย ใช้เวทีครูเป็นสนามซ้อมเล่นการเมือง โดยมีแผนการจะไปลงเลือกตั้งการเมืองสนามใหญ่ในเวลาต่อมา และหากได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ คนเหล่านี้ก็จะเป็นหัวคะแนนให้กับการเมืองสนามใหญ่ไปด้วย

“เมื่อการเมืองครูมันผูกกับการเมืองใหญ่ ก็จะมีเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง นักการเมืองเองก็จะมีชื่อเด็กของตนเองมาฝากย้าย ฝากเลื่อนกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ขณะที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ก็มีการถอนทุนเรียกเงินเข้ากระเป๋า”

อย่างไรก็ตาม ผู้แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่สายผู้สอนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ในสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ทางภาคอีสานคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ข่าวที่ออกมานั้น ล้วนเป็นเรื่องที่พูดต่อๆ กัน หรือเป็นเรื่องร้องเรียน แต่ไม่เคยมีการจับคนผิดได้ จึงไม่รู้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ยอมรับว่า การทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ที่ผ่านมาของตนนั้น มีผู้มาเสนอผลประโยชน์ให้จริง เช่น จะพาไปเลี้ยงข้าว หรือบอกว่าจะดูแลหากได้โยกย้ายจริง ซึ่งตนได้แต่บอกไปว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำอยู่แล้ว

“ผมก็คิดว่าที่ออกมาพูดกันว่า จ่ายหัวละพันเพื่อซื้อเสียงนั้น มันจะทำได้อย่างไร เพราะคนที่มาลงคะแนนเลือกตั้งก็เป็นครู มีความรู้ ไม่ใช่คนที่จะถูกซื้อง่ายๆ และหากทำจริงเรื่องก็ต้องถูกพูดกันในวงการครู แล้วจะมองหน้าเพื่อนครูด้วยกันได้อย่างไร ส่วนเรื่องการเรียกเงินแลกการโยกย้ายแต่งตั้งนั้น ยิ่งทำได้ยาก เพราะการพิจารณาเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทำในรูปของคณะบุคคล และก่อนที่เรื่องแต่งตั้งโยกย้ายจะเข้า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ก็ต้องผ่านคณะกลั่นกรองเรื่องเพื่อเข้าที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.ก่อนอีก เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการวิ่งเต้นกับคณะกลั่นกรองฯ และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ทุกคน เพราะจำนวนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีจำนวนมาก และไม่เชื่อว่าจะมีคนรับเงิน เพราะผู้ที่มาเป็น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ล้วนเป็นผู้มีเกียรติ คงไม่เสี่ยงกับเรื่องนี้”

ขณะที่ นายสถาพร พิลาดี ผอ.โรงเรียนบ้านเชียงดีกุดเซื่อม อ.นายูง จ.อุดรธานี แสดงความเห็นว่า เชื่อว่าการจ่ายเงินเพื่อให้ได้แต่งตั้งโยกย้ายนั้นมีจริง แต่เกิดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น และคงไม่ใช่พื้นที่ส่วนใหญ่ เพราะการพิจารณาทำในรูปคณะบุคคล ซึ่งการจะมาเรียกร้องผลประโยชน์เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม การซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่นั้นไม่เชื่อว่าจะมีจริง แต่อาจจะมีการเลี้ยงฉลองหลังทราบผลการเลือกตั้งตามวัฒนธรรมไทยบ้างเท่านั้น แต่ถึงขั้นแจกเงินแจกทองให้ครูนั้นคงไม่มี

ปัญหาที่เกิดขึ้น ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ นักวิชาการ สกศ. อดีตรองเลขาธิการคุรุสภา เสนอแนะว่า ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาต้องมีความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการดูแลการเลือกตั้ง นอกจากนี้ควรกำหนดให้มีหน่วยงานที่จะมาดูแลการเลือกตั้งเช่นเดียวกับคณะกรรมการกลางการเลือกตั้ง(กกต.) หรือมีหน่วยเฝ้าระวังในพื้นที่

“ปัญหาอีกประการ คือ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ควรจะมีวิทยฐานะ หรือคุณวุฒิสูงกว่าผู้ได้รับการพิจารณา ดังนั้น การกำหนดคุณวุฒิเบื้องต้นให้สูง ก็เป็นช่องทางในการคัดกรองผู้จะเข้าสู่ตำแหน่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ให้มีคุณภาพ”

ขณะที่ รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการ สกศ. เห็นว่า การเลือกตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ไม่มี กกต. เข้ามาดูแลและตรวจสอบ เมื่อเลือกตั้ง นับคะแนนเสร็จก็สามารถประกาศผลเลือกตั้งได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการรับรองผลเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้เสนอให้ตั้ง กกต.เข้ามาดูแล แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิ.ย.นี้คงทำไม่ทัน ซึ่งในอนาคตต้องปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสมากขึ้น

“ทั้งที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่มีหน้าที่สำคัญ เกี่ยวพันกับขวัญกำลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบกับคุณภาพการศึกษาโดยตรง แต่ประชาชนกลับแทบไม่รู้เลยว่ากำลังจะมีการเลือกตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่เกิดขึ้น ซึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยตรวจสอบการเลือกตั้งที่ดีที่สุด คือประชาชนทุกคน หากการเลือกตั้งอยู่ในความสนใจของสังคม เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้ากระทำผิดอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนทุกคนช่วยดูแลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นด้วย เพื่อคุณภาพการศึกษาของบุตรหลานของเรา”
กำลังโหลดความคิดเห็น