xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงวัยรุ่นซึมเศร้ารุนแรง เสี่ยงฆ่าตัวตาย ชี้คนไทยป่วยเกือบ 2 ล้าน เข้ารักษาแค่ 4 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรมสุขภาพจิต เผย คนฆ่าตัวตายสำเร็จ 30% ป่วยโรคซึมเศร้า ห่วงวัยรุ่นซึมเศร้ารุนแรงมากกว่าวัยอื่น นำสู่การฆ่าตัวตายได้ง่าย คนไทยป่วยเกือบ 2 ล้านคน ผู้ป่วยเข้าถึงบริการแค่ 4% เหตุไม่รู้-ไม่ยอมรับว่าป่วย แนะคัดกรองเบื้องต้นตอบคำถามใน 2 ข้อ ถ้ามีอาการเซ็ง เศร้า สนใจสิ่งรอบตัวน้อยติดต่อนานเกิน 1 เดือน รีบพบแพทย์

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 3% ของประชากรไทย หรือประมาณ 1.9 ล้านคน พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และวัยรุ่น ตามลำดับ ซึ่งโรคซึมเศร้าจะสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 30% จะมีอาการของโรคซึมเศร้ามาก่อน นอกจากนั้น เป็นผลจากโรคจิตเวชอื่นๆ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ติดสุราและปัญหารุมเร้า

“ปัญหาที่สำคัญของโรคนี้ในปัจจุบัน คือ ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ มีเพียง 4% ของจำนวนผู้ป่วยเท่านั้นที่ได้รับการรักษา อาจเป็นเพราะประชาชนและคนรอบข้างไม่รู้ว่าตนเองป่วยด้วยโรคนี้ หรือรู้แต่ไม่ยอมรับทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะรุนแรงมากกว่าในวัยอื่น เพราะจะมีอาการควบคู่กับอารมณ์หุนหันพลันแล่น ขาดสติในการคิดตัดสินใจสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบ ทำให้นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ง่าย”นพ.วชิระ กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากกรรมพันธุ์ การเลี้ยงดูในวัยเด็กที่เด็กได้รับความเก็บกด และประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวกับการสูญเสียทั้งสูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน เสียหน้า ถูกทำให้อับอายขายหน้า โดยอาการของผู้ป่วยโรคนี้ที่คนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นได้ คือ หดหู่ เก็บตัวอยู่กับตนเอง สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวน้อยลง ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ สามารถคัดกรองโรคเบื้องต้นด้วยการตั้งคำถามกับตนเองหรือคนรอบข้าง 2 ข้อ คือ 1.ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอารมณ์เบื่อหน่าย เซ็ง เศร้าหรือไม่ และ 2.รอบสัปดาห์พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลงหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ติดต่อกันประมาณ 1 เดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค แพทย์สามารถรักษาให้หายได้เฉลี่ยภายใน 6 เดือน

“หากพบเห็นคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดควรเข้าไปให้กำลังใจ พูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา และช่วยหาทางออกในเรื่องต่างๆ ส่วนสิ่งที่ควรระวังคืออย่าปล่อยให้ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดที่มีปัญหาอยู่เพียงลำพังคนเดียว เนื่องจากอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ขาดสติ ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการขอรับคำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วน 1323 และ 1667” นพ.วชิระ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น