xs
xsm
sm
md
lg

“กษมา” สั่งขยายผลเรียนฟรีไม่มีเก็บค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“กษมา” สั่งขยายผลเรียนฟรีนำร่อง ให้ ผอ.สพท.ดำเนินการโรงเรียนเรียนฟรีจริงๆ สพท.ละ 1 แห่ง หลังเริ่มให้ 4 โรงเรียนใน กทม.ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ปกครอง กำชับ ผอ.สพท.ตรวจสอบโรงเรียนที่ถูกร้องเรียนเรียกเก็บเงินเพิ่มโดยไม่มีเหตุผลผ่านสายด่วน ศธ.70 แห่ง ระบุหลังเรียก ผอ.ร.ร.50 แห่งที่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มแจง ไม่พบโรงเรียนใดเก็บเพิ่มในส่วนของการศึกษาพื้นฐาน เตรียมประมวลผลเรียนฟรีเสนอนายกฯ ต่อไป

วานนี้ (21 พ.ค.) ที่โรงแรมเรดิสัน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 185 ทั่วประเทศ ว่า การดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้น ดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ ผอ.สพท.ยังจะต้องช่วยกันดูแลในเรื่องค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนยังเรียกเก็บจากนักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งจากข้อมูลสายด่วน 1579 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเข้ามามากนั้น ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า มีโรงเรียน 70 กว่าแห่งที่ถูกร้องเรียน จึงอยากให้แต่ละ สพท.ลงไปตรวจสอบด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มแบบไม่มีเหตุผล แม้ทางสพท.จะได้อนุมัติให้โรงเรียนจัดเก็บไปแล้วก็ควรนำกลับมาทบทวนอีกครั้งเพราะหาก สพฐ.ไม่เอาจริงในเรื่องนี้ ในปีต่อไปโรงเรียนต่างๆ ก็จะมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มมากขึ้นแบบมโหฬาร

“ขณะนี้ สพฐ.นำร่องโรงเรียนเรียนฟรีแล้ว 4 แห่งใน 3 เขตพื้นที่การศึกษาในกรุงเทพมหานครประกอบด้วย โรงเรียนทวีวัฒนา โรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ โรงเรียนพุทธจักรวิทยา และโรงเรียนสวนอนันต์ โดยได้จัดงบประมาณให้ 2 ล้านบาทต่อโรงเรียน เพื่อนำไปสนับสนุน ด้านคอมพิวเตอร์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างครู ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียนเลย ดังนั้น จึงอยากให้สพท.ทั่วประเทศขยายผลนำร่องในเขตพื้นที่ของตนเองเขตละ 1 โรงเรียนในปีการศึกษา 2553 เพื่อให้มีการเรียนฟรีอย่างแท้จริงโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ยังมีการเก็บค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 300-400 แห่ง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นอกจากนี้ คุณหญิงกษมา ได้เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 แห่งที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการสอบถามข้อมูลการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้ปกครองของโรงเรียน หลังจากที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยพบว่า ไม่มีโรงเรียนใดเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของโรงเรียนนั้น เป็นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในรายการที่เป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน เช่น โครงการพัฒนาทักษะตามความถนัดของนักเรียนนอกเวลาเรียน ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าตอบแทนวิทยากรภายนอก และค่าปรับพื้นฐานความรู้ โดยไม่เกิน 1,000 บาทต่อภาคเรียน ซึ่งในส่วนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้อนุโลมให้โรงเรียนสามารถเรียกเก็บได้

นอกจากนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นบริการเสริม ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ โดยการเรียกเก็บจะเก็บตามสภาพจริง ซึ่งที่ประชุมรับทราบและยืนยันว่าได้จัดเก็บในอัตราเดียวกับปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เช่น ประกันสุขภาพ หรือตรวจสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ และโรงเรียนต้องจัดเก็บในอัตราเดียวกับปีที่แล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามยังพบว่านอกจากรายการข้างต้นที่โรงเรียนไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ยังมีความเดือดร้อนเรื่องการขาดครูที่มีความชำนาญด้านต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ดนตรี และนาฏศิลป์ จึงทำให้โรงเรียนต้องจ้างครูเหล่านี้มาเพิ่มเติม รวมทั้งค่าจ้างนักการภารโรง ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่โรงเรียนยังขาดแคลนอยู่ด้วย ทั้งนี้ในส่วนของค่าประกันชีวิตนั้น ในปีต่อไปโรงเรียนพจะต้องมีการกำหนดอัตราการเรียกเก็บที่ใกล้เคียงกันกับโรงเรียนอื่น อย่างน้อยควรเป็นอัตราขั้นต่ำ

“ก่อนหน้านี้ สพฐ.ได้ข้อมูลว่ามีโรงเรียนประมาณ 8 แห่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลกันใหม่แล้วพบว่า ทุกโรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายลดลงจากปีที่แล้วทั้งหมด และไม่เกิน 1,000 บาทต่อภาคเรียน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สพฐ.จะมีการนำผลการประมวลสภาพปัญหาของโรงเรียนดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาต่อไปว่าการจะช่วยลดภาระของผู้ปกครอง และไม่ต้องให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินเพิ่มเติม จะต้องสนับสนุนในรายการที่มีความจำเป็นใดบ้าง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น