สธ.เผยสามีหญิงชาวเยอรมันเริ่มมีไข้รักษาตัว รพ.หัวหิน ส่งเชื้อตรวจแล้ว ยันไม่จำเป็นต้องกักตัวทีมแพทย์ 14 คน พร้อมเตรียมหารือวางแผนรับมือนักเตะลิเวอร์พูลเดินทาง ดวนแข้งในไทย 22 ก.ค.นี้ เหตุอังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศเสี่ยงตามประกาศองค์การอนามัยโลก ขณะเดียวกัน เตรียมปรับแผนตรวจคัดกรองผู้ป่วยบนเครื่องบินเข้มขึ้น
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สามีของหญิงชาวเยอรมันวัย 65 ปี ที่เสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 18 พ.ค. มีอาการป่วยเป็นไข้ อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส แพทย์ได้รับตัวมาดูแลรักษาอาการที่โรงพยาบาลหัวหินและส่งเชื้อไปตรวจแล้ว แต่ยังไม่ทราบผลการตรวจ ซึ่งต้องติดตามอาการต่อไป แม้ว่าผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อจากสารคัดหลั่งของห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการคู่ขนานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะระบุผลเช่นเดียวกัน คือ ผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รวมถึงไม่ได้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบีด้วย
“ชัดเจนว่าผู้ตายไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเชื้อที่ทำให้ปอดอักเสบ โดยได้ส่งชิ้นเนื้อที่บริเวณปอดของผู้ตายไปให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ ได้หารือกับนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เห็นว่าไม่จำเป็นต้องกักตัวเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจศพ แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และนักศึกษาแพทย์ทั้ง 14 คนอีกต่อไป”นพ.ไพจิตร์กล่าว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการการเฝ้าระวังโรคกรณีทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล จากประเทศอังกฤษ จะเดินทางมาแข่งขันกับนักฟุตบอลทีมชาติไทยในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ สธ.ได้เตรียมการประสานกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพื่อจัดระบบเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพนักฟุตบอลทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดินทางถึงประเทศไทยจนเดินทางกลับ ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็น 1 ใน 5 ของประเทศกลุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในมาตรการการเฝ้าระวังโรค โดยจะหารือร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องใช้มาตรการใดเป็นพิเศษนอกเหนือจากมาตรการที่กระทรวงฯดำเนินการอยู่แล้วกับกลุ่มนักฟุตบอลและทีมงานหรือไม่ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับแฟนฟุตบอลทั่วประเทศ
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าที่ประชุมย่อยของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมเสนอที่ประชุมให้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกพื้นที่ ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยอาจให้มีการตรวจคัดกรองบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่สวมชุดอวกาศและนำเครื่องมือวัดไข้แตะหน้าผากผู้โดยสาร ซึ่งการใช้มาตรการนี้ถือเป็นเรื่องปกติในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นก็มีการใช้มาตราการนี้เช่นกัน ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากท่าอากาศยาน การสายบิน และเตรียมเรื่องของอุปกรณ์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่