ภาคประชาสังคมไทยประกาศไม่สังฆกรรมกับคณะอนุกรรมาธิการซีแอลของวุฒิสภา ระบุ ไม่มีความชอบธรรม เพราะมีตัวแทนพรีมาที่ค้านซีแอลมาโดยตลอดนั่งแป้นอยู่
ตามที่คณะอนุกรรมาธิการการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ทำหนังสือเชิญตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย), เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกลุ่มศึกษาปัญหายา เข้าให้ข้อมูลการทำซีแอลของไทยในวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคมนี้ ที่รัฐสภา
นายบริพัตร ดอนมอญ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกลุ่มศึกษาปัญหายา ได้ทำหนังสือแจ้งทางคณะอนุกรรมาธิการฯแล้วว่า จะไม่ไปชี้แจงเพราะเห็นว่าคณะอนุกรรมาธิการฯชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการทำซีแอล และก่อนหน้านี้ก็ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ และ 30 เมษายน ที่ผ่านมา
“คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมี มีแพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ซึ่งเป็นสมาคมของบรรษัทยาข้ามชาติที่มีจุดยืนคัดค้านการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐมาโดยตลอด และสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ก็เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาที่ถูกประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร รวมอยู่ด้วย ดังนั้นการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้จึงขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง แม้เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯเข้าชี้แจงถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าว แต่ทางคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่าความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการยังไม่สิ้นสุด และขอให้ทางเครือข่ายฯส่งข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณา
ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม (ตามรายนามข้างล่าง) จึงกังวลถึงการทำหน้าที่ดังกล่าวของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ทางเครือข่ายฯร้องเรียน แต่กลับปล่อยให้คณะอนุกรรมาธิการทำงานต่อไปอย่างไม่ตระหนักถึงการทับซ้อนทางผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทางเครือข่ายฯทั้งหมดจึงตัดสินใจไม่ส่งข้อมูลหรือร่วมประชุมใดๆกับคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้อีก และจะไม่รับผลการศึกษาใดๆที่เกิดจากคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ด้วย” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย) กล่าว
ทางด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา มีผลการศึกษาเรื่องซีแอลทั้งหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ เช่น HITAP (โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอิสระของกระทรวงสาธารณสุข, การประเมินของคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งประกอบด้วย 6 หน่วยงานหลักระหว่างประเทศด้านการค้า กฎหมายและสาธารณสุข ซึ่งภาคประชาสังคมก็ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตลอด เพราะถือเป็นหน่วยวิจัยอิสระ ซึ่งคณะกรรมาธิการสาธารณสุขควรเอาข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาและเอาเวลาไปใส่ใจแก้ปัญหาสาธารณสุขอื่นๆด้วย โดยเฉพาะปัญหายาราคาแพง คนเข้าไม่ถึงยา การทำการตลาดยาที่ไม่เหมาะสม” นิมิตร์ กล่าว
ในหนังสือร้องเรียนที่มีไปถึงประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ระบุว่า “ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ได้ใช้อำนาจเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงประเด็นต่างๆ เช่น จะมีการทำประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory licensing) กับยาตัวใหม่หรือไม่อย่างไร หรือ กรณีคุณภาพของยา Clopidogrel เพื่อกดดันหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่กรณีที่บริษัทยาตั้งราคายาสูงมากและสามารถลดราคาลงได้กว่า 30 เท่าเพื่อแข่งขันกับยาชื่อสามัญ ทางคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้กลับไม่สนใจที่จะเรียกบริษัทยาไปชี้แจงว่าค้ากำไรเกินควรหรือไม่ หรือไม่ได้แสดงความพยายามที่จะหามาตรการในการลดราคายาที่มีราคาแพงเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าวซึ่งรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศกำลังทำหน้าที่ให้กับใคร เป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยหรือบริษัทยากันแน่ มีความตั้งใจจริงในการศึกษาเพื่อได้ข้อมูลที่เป็นกลางไปใช้ในอนาคตจริงหรือ หรือต้องการสร้างข้อมูลในการโจมตีการประกาศการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของไทยกับยาที่ติดสิทธิบัตรเพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน ของคนไทยด้วยกันเอง”