xs
xsm
sm
md
lg

ตุ๊กตาบลายธ์หลบไป หุ่นไทยกำลังมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หุ่นกระบอกไทย
อาจจะดูเกินจริงไปสักหน่อยหากจะพูดว่า หุ่นชักหุ่นเชิดแบบไทยจะเข้ามาฮิตแทนที่ตุ๊กตาบลายธ์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทยในวันนี้วันพรุ่ง แต่จะรีบปฏิเสธกันเชียวหรือว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

แน่ล่ะ ที่กล้าเอ่ยเพราะว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งกำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก และปลุกชีวิตหุ่นไทยขยายพันธุ์ไปสู่เด็กและเยาวชนไทยมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการหว่านอย่างเงียบเชียบไปเสียหน่อยก็ตามที

**ใช่แค่ในตู้โชว์
นิมิตร พิพิธกุล
จากคุณะละครหุ่นสายเสมา บอกกล่าวถึงภาพของหุ่นไทยในวันนี้ ว่า แม้จะมีละครหุ่นบางคณะเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา ทว่า โลกเริ่มจับตามองมายังหุ่นไทยมากขึ้น เนื่องจากมีบทพิสูจน์มาแล้วว่ามีหุ่นไทยหลายคณะไปกวาดรางวัลของโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน ดังนั้น หลายชาติจึงมองว่าไทยคือมาสเตอร์ด้านหุ่นอีกประเทศหนึ่ง

ทั้งนี้ หากถามว่า หุ่นไทยมีเอกลักษณ์ตรงไหน คำตอบที่ได้ คือ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นประเภทใด หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หรือแม้แต่หุ่นสายเสมา และหุ่นพื้นบ้านอื่นๆ ลักษณะที่ตรงกันคือความงดงาม อ่อนช้อย นุ่มนวล ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนเลียนแบบมาจากท่วงท่าที่อ่อนไหว และอ่อนหวานของคนไทยนั่นเอง

“หากสังเกตว่าคนไทยมีเอกลักษณ์อะไร หุ่นก็จะมีตาม ซึ่งข้อดีของเราอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าคนจะรำเป็นหรือรำไม่เป็นก็ตาม คนไทยจะนิ้วอ่อน มืออ่อน เวลาที่เราเชิดหุ่นก็จะกิริยาอ่อนช้อยเป็นคนไทย หุ่นไทยจึงเป็นที่จดจำได้ในทั่วโลก”

ทว่า หน้าที่ของหุ่นไทยในวันนี้นอกจากจะทำหน้าที่รับใช้ในเชิงศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดการตั้งคำถามว่า ทำให้คนในชาติเข้าถึงได้ยากเกินไปหรือไม่ และอาจจะมีเพียงแค่ต่างชาติที่รู้จักหุ่นไทยเท่านั้น โดยที่เด็กและเยาวชนบ้านเราละทิ้งและหันไปทำอย่างอื่นโดยไม่เกิดความรัก และไม่อยากเข้าใกล้เนื่องจากเห็นว่าเป็นของสูงและยากเกินไปสำหรับเด็ก

นิมิตร บอกว่า หากทำหุ่นให้กลายเป็นของเล่น เข้าถึงง่ายโดยที่จะต้องทำให้หุ่นกับคนมีความผูกพันกันประหนึ่งเพื่อนอีกคนหนึ่งเสียแล้ว เขาก็จะไม่ทิ้งขว้างหุ่นอีกต่อไป และกลวิธีก็คือการได้ลงมือทำเอง เพราะหุ่นต้องอยู่คู่กับมือ หากหุ่นถูกแขวนไว้เพียงประดับเรือนเท่านั้นก็ปราศจากความหมาย

“ศิลปะจะต้องมีคนสืบต่อที่เราทำวันนี้ก็อยากให้คนสืบต่อ ดีใจที่เห็นเด็กๆ สนใจหุ่นไทยมากขึ้น แม้จะยังไม่มาก แต่ว่าไม่อยากให้มันเป็นแฟชั่น และการไม่เป็นแฟชั่นก็ดีอย่างหนึ่งคือเราจะได้คุณภาพและมีคนทำต่อโดยที่ไม่ทอดทิ้งมันจริงๆ” ชายชุดดำ กล่าวแล้วก็ขอตัวไปเชิดหุ่นโชว์เด็กๆ

**ก็คนมันรักซะแล้ว!!
ในงานนิทรรศการหุ่นไทยที่หยิบหุ่นไทยออกจากตู้โชว์ที่แทบจะเรียกว่ายกพิพิธภัณฑ์ออกมาตั้งให้เด็กไทยได้เรียนรู้ในช่วงปิดเทอมนั้น อาจยังไม่จุดประกายให้เด็กรู้สึกรักหุ่นไทยได้มากกว่าที่ตาเห็น จึงมีการอบรมให้เด็กได้ร่วมเชิด ร่วมทำ และคิดออกแบบการแสดงด้วย เพื่อให้คลุกคลี ใกล้ชิดและทำความรู้จักกัน
เราเห็นเด็กโต 5 คนเดินอาดๆ เข้ามาสวัสดีและทักทายด้วยสีหน้าแววตายิ้มแย้ม ไล่จากอายุ กันต์ จามรมาน หรือปี๊ป อายุ 19 ปี นักศึกษาจากรั้วเกษตรศาสตร์ พี่ใหญ่แนะนำน้องๆ อีก 4 คนประกอบด้วย ด.ช.กิตติภาสน์ โชติวิวัฒน์กิจ (อุ่ย) อายุ 14 ปี ร.ร.พุทธจักรวิทยา น้องมาย ด.ญ.โศภิษฐา มัธยมจันทร์ อายุ 14 ปี ร.ร.สามเสนวิทยาลัย ด.ช.บุริมภัทร์ สุทระศานติก(ภู) อายุ 14 ปี ร.ร.เซนต์ดอมินิก และ ด.ช.วุฒิพงษ์ แสงทินทอง หรือแซ้ง อายุ 13 ปี จาก ร.ร.ปทุมคงคา

ทั้ง 5 คนพบกันที่วังปลายเนิน แหล่งรวมเด็กและคนที่รักการแสดงแบบไทยๆ ไว้ด้วยกัน และพวกเขาก็ร่วมเล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ด้วยกัน ก่อนจะจับมือเดินเข้ามาเรียนรู้ศิลปะการเชิดหุ่น

ปี๊บ เล่าก่อนว่า เขาคุ้นเคยกับศิลปะการแสดงแบบไทยๆ ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อคุณยายชื่นชอบด้านนี้ ผู้เป็นหลานชายจึงซึมซับความรักด้านนี้มาอย่างไม่รู้ตัว รู้สึกอีกทีก็ถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว ดังนั้นเมื่อมีงานใดก็ตามที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะร้อง หรือเล่นปี๊บไม่เคยเกี่ยงที่จะลอง ครั้งนี้ก็เช่นกัน

“ใจมันชอบไปแล้ว อีกอย่างเราอยากสืบทอดต่อจากคุณยายเรื่องรำ เรื่องโขน ผมมีพื้นฐานอยู่แล้วจึงอยากจะเชิดหุ่นละครเล็กเลยชวนน้องๆ มา ทุกคนตกลงเรียนเหมือนกันหมดเลย”

แต่ดูเหมือนจะมีน้องสาวหนึ่งเดียวในกลุ่มที่ขยันกว่าใครเพื่อน เพราะเธออยากรู้จักทั้งหุ่นสายเสมา และหุ่นละครเล็ก

น้องมาย บอกว่า หน้าตาอันสะสวย และความอ่อนช้อยของหุ่นทำให้เธอเกิดความรู้สึกอยากรำ อยากเชิด โดยมองว่านอกจากเสน่ห์ของหุ่นไทยนอกจากจะอยู่ที่เครื่องแต่งก่าย ท่วงท่าการเชิดที่งดงามแล้ว ภาษาท่าที่ถูกถ่ายทอดจากตัวผู้เชิด ความอ่อนช้อย ความละเอียดเอาใจใส่เรื่องบทร้องบทรำอันมาจากวรรณคดีไทยคืออีกเอกลักษณ์ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้

“ถามว่าทำไมจึงตัดสินใจมาเชิดหุ่นไทยๆ แทนที่จะใช้เวลาปิดเทอมไปปฏิบัติการ K-pop หรือ J-pop ตามกระแสแฟชั่นนิยมกัน คือ เราไม่ได้ว่าเพื่อนคนอื่นที่ไปทำแบบนั้น แต่ทุกคนมีความชอบของตัวเอง แค่ไม่เอาเวลาไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ดีแล้ว เราใช้เวลาว่างของเรามาอนุรักษ์ของไทยๆ เรามีความสุข แม้มันจะเป็นงานอดิเรกแต่ก็พื้นฐานที่ดีในการอนุรักษ์” มายบอกพร้อมมองไปโดยรอบก็ได้เห็นสีหน้าเห็นด้วยจากเพื่อนๆ รอบกลุ่ม

**หุ่นไทยก็เป็นเพื่อนได้
สำหรับพี่รุ่นโตอาจจะมีแรงยกหุ่นนาฎยศาลา หรือคล่องพอที่จะเชิดหุ่นสายเสมา แต่น้องรุ้ง หรือด.ญ.ชนัญญา พงษ์นอก อายุ 11 ปี จาก ร.ร.ทับทอง บอกว่า สนใจที่จะเรียนรู้หุ่นกระบอกมากกว่า โดยในขั้นต้นก่อนจะเชิด น้องรุ้งได้ทำความรู้จักกับหุ่นด้วยการฝึกทำหุ่นกระบอกจำลอง

“หุ่นละครเล็กตัวใหญ่หนูคงเชิดไม่ไหว หุ่นสายก็ไม่ไหว ก็เลยคิดว่าลองหุ่นกระบอกก่อนดีกว่า พี่เขาให้ลองประกอบหุ่นก่อน แต่งหน้า แต่งตัวให้หุ่น เหมือนเวลาเราแต่งตัวให้ตุ๊กตาค่ะ สนุกดีแล้วเสื้อผ้าเขาก็สวยด้วย”

น้องรุ้ง บอกว่า การได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ แม้ว่ารูปแบบหน้าตาของหุ่นไทยจะมีชฎา มีเครื่องทรง และต้องแต่งหน้ายากอยู่สักหน่อย แต่หากเมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะสามารถนำมาเชิดได้ แถมกล้าบอกกับใครๆ ได้ว่านี่คือผลงานของเรา

“หนูว่าได้ทำเองทำให้เรารู้สึกว่าอยากบอกคนอื่น หุ่นเล็กๆ นี่ก็เชิดได้ด้วย ถ้าหนูได้อบรมแล้วน่าจะเล่นหรือสอนคนอื่นให้เล่นเป็นเพื่อนได้” น้องรุ้ง บอกแจ่มใส

นิมิตร ทิ้งท้ายว่า อยากบอกน้องรุ่นใหม่ว่าหุ่นไทยไม่ใช่แค่ของเล่น หุ่นมีชีวิตและผู้เชิดผู้ทำ คือ ผู้ให้ชีวิต ต่อไปหุ่นไทยนอกจากจะไปสร้างชื่อในเวทีโลกแล้ว ศิลปการเชิดหุ่นจะขยายไปเป็นหุ่นพื้นบ้านซึ่งตรงนี้เองจะช่วยส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และเศรษฐกิจพอเพียง ให้แต่ละท้องถิ่น และเชื่อเหลือเกินว่าเด็กและเยาวชนจะสนใจหุ่นไทยที่สามารถทำเองได้อย่างแน่นอน...
นิมิตร พิพิธกุล จากคุณะละครหุ่นสายเสมา
แซ้ง-ภู-มาย-ปี๊ป-อุ่ย น้องๆ จากวังปลายเนินร่วมเรียนหุ่นละครเล็ก
ด.ญ.ชนัญญา พงษ์นาค กำลังจดจ่อกับการแต่งตัวให้หุ่นกระบอกจิ๋ว/ ฝึกเชิดหุ่นกระบอก


หุ่นสายเสมาพันธุ์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น