xs
xsm
sm
md
lg

พม.คลอด 4 มาตรฐานตัวชี้วัดความเสมอภาคชาย-หญิงครั้งแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พม.จับมือโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มธ. คลอดมาตรฐานตัวชี้วัดความเสมอภาคระหว่างชายหญิง เป็นครั้งแรกในไทย กำหนด 4 มาตรฐานสร้างความเสมอภาค เผยที่ผ่านมาทำมากว่า 30 ปี แต่ไม่เคยวัดผลอย่างจริงจัง พร้อมนำผลเสนอรัฐบาล กระทรวง จัดทำเป็นนโยบายต่อไป

วันนี้ (4 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น.ที่โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการแถลงข่าว “การเมืองเรื่องระหว่างเพศ : มาตรฐานและตัวชี้วัด” ว่า ความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม โดยจัดทำมาตรการ กลไก กฎหมาย และแผนยุทธศาสตร์รองรับการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น จัดตั้งกลไกส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐ 19 กระทรวง 129 กรม และ 4 หน่วยงานอิสระ ที่เรียกว่า Chief Gender Equality Officer – CGEO และ Gender Focal Point - GFP ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐที่ให้การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายทั้งภายในหน่วยงานและในกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน การจัดทำแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นแผนฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) การแก้ไขกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2548 พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 รวมทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา เป็นต้น

นางนวลพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พม.โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) ได้ร่วมกับโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำมาตรฐานและตัวชี้วัดความเสมอภาคระหว่างหญิงชายระดับประเทศ โดยกำหนดมาตรฐานความเสมอภาคระหว่างชายหญิงไว้ 4 มาตราฐาน ได้แก่ 1.ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.ความเสมอภาคทางสังคม 3.ความเสมอภาคในครอบครัว และ 4.ความเสมอภาคในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจัดทำมาตรฐานและตัวชี้วัดระดับประเทศนี้จะทำให้ทราบถึงผลการพัฒนาของประเทศในภาพรวม โดยใช้มุมมองด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นฐานในการวิเคราะห์และประเมินผลของการพัฒนาที่เกิดขึ้น หากประเทศไทยสามารถใช้มิติของความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและเป็นกระแสหลักการพัฒนาของโลกมายาวนานเข้าไปสู่กระบวนการพัฒนาในทุกด้านได้แล้วก็จะทำให้ประเทศสามารถก้าวไปสู่การพัฒนาในระดับสากลได้อย่างรวดเร็ว

ดร.กรวิภา วิลลาส ที่ปรึกษาโครงการจัดทำมาตรฐานและตัวชี้วัดความเสมอภาคระหว่างชายหญิง กล่าวว่า ความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในไทยเริ่มมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 โดยแผนพัฒนาสตรีระยะยาว ที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 ซึ่งทำมานานกว่า 30 ปี แต่ไม่เคยมีการวัดเลยว่ามีความเสมอภาคเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ช่องว่างระหว่างชายหญิงมีมากน้อยแค่ไหน และการจัดทำมาตรฐานตัวซี้วัดในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ซึ่งมาตรฐานที่ใช้ชี้วัดนั้นก็หมายถึง คุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่ควรจะมี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มอ้างอิงในสังคมนั่นคือผู้ชาย แล้วดูถึงความเสมอภาคที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรฐานตัวชี้วัดแบบเดียวกับที่มีใช้ในสากล เมื่อทราบแล้ว ก็จะนำผลที่ได้ไปกำหนดเป็นนโยบายในเชิงของรัฐบาล กระทรวง ต่อไป เพื่อให้มีปฏิบัติการเพื่อลดช่องว่างทางสังคมระหว่างชายหญิงให้กลับมาเสมอภาคกัน

ด้าน นางมาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ความเสมอภาคทางเพศเป็นเรื่องการเมือง เพราะผู้ชายเท่านั้นที่มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายประเทศ ขณะที่ผู้หญิงยังแบกภาระทำงานนอกบ้านและดูแลครอบครัว 4 มาตรฐานที่กำหนดขึ้นเชื่อมโยงกัน เช่น ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งมาตั้งแต่สมัย ร.5 แต่ทางปฏิบัติไม่ตอบสนองสิทธิ นอกจากนั้นประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดมาก คือ เสรีภาพทางเพศ นิตินัยบอกว่าต้องมีผัวเดียวเมียเดียว แต่พฤตินัยก็ไม่ใช่ ตัวชี้วัดที่กำหนดจะเป็นตัวใหม่ๆ ที่ชี้ให้เห็นค่านิยมและการปฏิบัติที่ผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง เช่น เนื้อหาทางสื่อโทรทัศน์ ละคร ต้องมีการจัดเรตติ้งว่าตอกย้ำค่านิยมความไม่เสมอภาคอย่างไร กระแสความทันสมัยน่ากลัวที่ส่งเสริมให้คนเป็นปัจเจกบุคคลมาก การขยายเรื่องบันเทิงที่ไม่เหมาะสมมากเกินไป
 
รวมทั้งเรื่องการเมืองที่ผู้หญิงยังมีส่วนร่วมน้อย โดยมี ส.ส.หญิง 11% ส.ว.หญิง 16% อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้พรรคการเมืองมีสัดส่วนของผู้หญิงมาเป็น ส.ส., ส.ว.อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่มีพรรคการเมืองใดปฏิบัติตาม ดังนั้น มาตรฐานและตัวชี้วัดจะสะท้อนความเสมอภาคในสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น