xs
xsm
sm
md
lg

พม.ชี้ไทยเข้าสู่สังคมคนสูงวัย ด้านตัวแทนผู้สูงอายุ ชี้ รบ.ไม่ทอดทิ้งจากนโยบายเบี้ยยังชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พม.ชี้ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พร้อมกำหนด 3 แนวทางรองรับปัญหา ด้านประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จ.นครฯ ชี้ นโยบายเบี้ยคนแก่บ่งบอกรัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ต้องเพิ่มระบบการจัดการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผช.รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติปี 2552 เรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุ” ว่า ประชากรไทย 63.4 ล้านคน เป็นประชากรสูงอายุประมาณ 7.2 ล้านคน หรือร้อยละ 11.3 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่ามีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2545 ร้อยละ 6.3 ปี 2548 ร้อยละ 7.1 และปี 2550 สูงถึงร้อยละ 7.7 ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้ประสบปัญหาขาดคนดูแล แม้แต่กลุ่มที่อยู่กับครอบครัวก็รับผลกระทบเพราะลูกหลานต้องไปทำงาน และความนิยมแยกครอบครัวออกไปอยู่ตามลำพัง

นางนวลพรรณ กล่าวว่า ภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขาดคนดูแลผู้สูงอายุ และเร่งศึกษาระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดย พม.ได้กำหนด 3 แนวทางรองรับปัญหาคือ 1.สร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพกายใจ เศรษฐกิจ และการดูแลตนเอง ซึ่งต้องเตรียมตัวว่าจะอยู่อย่างไร อยู่กับใคร 2.เตรียมสังคมให้พร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุ โดยใช้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมเป็นกลไกเตรียมพร้อมตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ 3.ส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีส่วนร่วมด้วยการใช้ศักยภาพของกลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคม เช่น โครงการคลังปัญญาผู้สูงอายุ โครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

นายประยงค์ รณรงค์ ประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ต.ไม้เรียง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เตรียมความพร้อมรับสังคมผู้สูงวัย” ว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นผู้สูงอายุไม่ถูกทอดทิ้งจากรัฐบาล แต่เงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ต้องมีระบบบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุภายในสังคมชุมชน ที่สำคัญผู้สูงอายุต้องรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองด้วย เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถให้เงินได้จนเพียงพอ และเบี้ยยังชีพดังกล่าวยังมีปัญหาไม่สามารถจัดสรรให้ครบทุกคน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนทั้งที่คนเหล่านี้เป็นผู้ด้อยโอกาส ขณะที่บางคนมีลูกหลานที่ร่ำรวยกลับได้รับสิทธิ ซึ่งตรงนี้คงต้องปรับวิธีบริหารจัดการใหม่

นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงวัยต้องถ่ายทอดไปถึงระดับเยาวชนด้วยให้รู้ เข้าใจและเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เฉพาะการให้ความรู้เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น และควรจะกำหนดเป็นแนวทางนโยบายให้แต่ละชุมชนได้เน้นการพึ่งตนเอง

นายประยงค์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงความขัดแย้งในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ว่า ตนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และไม่เข้าใจว่าคนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศไทยเวลานี้มีเป้าหมายอะไร ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีส่วนทำให้ประเทศเสียหาย ไม่รู้ทำเพื่ออะไร ตนจึงไม่อยากแสดงความคิดเห็น เพราะความคิดเห็นของเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นได้ จึงอยากให้แต่ละคนจับตาดูและวิเคราะห์ด้วยตนเอง และทางที่ดีอย่าไปยุ่ง
 
ส่วนที่มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมนั้น ก็เป็นสิทธิในการคิด กรณีการกล่าวพาดพิงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะในการชุมนุมเท่านั้น แต่ตนมองถึงบางคนที่ได้รับการศึกษาสูง ๆ ก็คิดและทำอะไรแพลง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในชนบทหรือในเมือง จนมีการพูดกันว่าคนรุ่นใหม่จบจากสถาบันการศึกษา แต่ทำไมสอนให้ดูถูกพ่อแม่ ดูถูกชุมชน หรือแม้แต่คนรุ่นเก่าเองก็ดูถูกคนรุ่นใหม่ที่มองว่าจบออกมาได้ปริญญา แต่เอาตัวไม่รอด ยังต้องขอเงินพ่อแม่ใช้ พึ่งตนเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาต้องอาศัยหลักวิชาการ เทคโนโลยี ร่วมกับประสบการณ์และภูมิปัญญา จะอาศัยด้านใดด้นเดียวไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น