xs
xsm
sm
md
lg

“นวลพรรณ” เตรียมหารือนายกฯ เร่งรัดจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นวลพรรณ” เข้ามอบนโยบายผู้บริหาร พก.ย้ำพร้อมหารือ “นายกฯ” เร่งรัดนโยบายจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการทุกคนที่ลงทะเบียน ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ สนับสนุนสถานที่ราชการ เอกชนจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ

วันนี้ (11 มี.ค.) ที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) โดยนางกิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการ พก.กล่าวว่า จำนวนคนพิการในประเทศไทยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีทั้งสิ้น 1.9 ล้านคน หรือร้อยละ 2.9 ของจำนวนประชากร ซึ่งมีผู้ที่เข้าจดทะเบียนคนพิการทั้งสิ้น 803,779 คน (ข้อมูล ณ 20 ม.ค.2552) โดยแบ่งประเภทความพิการได้หลายลักษณะ โดยการทางกายมีมากสุดที่ ร้อยละ 48.40 รองลงมาคือ ผู้พิการทางการได้ยิน ร้อยละ 13.77 ผู้พิการทางสติปัญญา ร้อยละ 12.51 และผู้พิการทางการมองเห็น ร้อยละ 10.33

ทั้งนี้ สามารถแบ่งเป็นผู้พิการที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 233,207 คน ยังไม่เคยได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ แต่มีสิทธิในการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่วนคนพิการอีกจำนวน 262,669 คน ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการอยู่แล้ว
นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วย รมว.พม.
ด้านงบประมาณปี พ.ศ.2552 ที่ พก.ได้รับนั้น รวมทั้งสิ้น 187,581,8000 บาท แบ่งได้เป็น 3 ผลผลิต ได้แก่ ผลผลิตที่ 1 ประชากรเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ งบ 62,280,000 บาท เป้าหมาย 50,000 คน ผลผลิตที่ 2 เครือข่ายได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ งบ 21,436,200 บาท เป้าหมาย 40 องค์กร และผลผลิตที่ 3 คือ ประชากรเป้าหมายได้รับการส่งเสริมความเสมอภาค การคุ้มครองสิทธิ งบ 103,865,600 บาท เป้าหมาย 50,000 คน และเป็นกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ งบ 60,000,000 บาทเป้าหมาย 20,000 คน

เลขาธิการ พก.กล่าวอีกว่า สำหรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนมี ดังนี้ 1.การออกอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ได้แก่ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ 2.การบูรณาการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กับแผนพัฒนาจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งภายในเดือนพฤษภาคมนี้ทุกจังหวัดจะต้องมีแผนพัฒนาคนพิการเพื่อจังหวัดจะได้บริหารจัดการงบประมาณเพื่อคนพิการได้เอง 3.การบริหารองค์กร พก.ได้แก่การแก้กฎหมายให้เป็นนิติบุคคล และขอให้ อพก. กระทรวงจัดอัตรากำลังเพิ่ม
 
4. ขอมติ ครม.ออกมาตรการสนับสนุนงานคนพิการ 3 เรื่อง คือ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ราชการ การจ้างงานคนพิการในท้องถิ่น และการจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนพิการที่จดทะเบียนแล้วทุกคน (803,779 คน) ซึ่งผู้พิการที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้วเดือนละ 500 บาท จำนวน 2.6 แสนคน เป็นเงินประมาณ 1.6 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่คนพิการอีกกว่า 5 แสนคน ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปี จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ โดยอาจนำเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีผู้มาใช้สิทธิไม่ครบตามเป้าหมายที่รัฐกำหนดไว้ เกลี่ยมาจัดสรรเป็นเบี้ยยังชีพให้แก่คนพิการ

นางนวลพรรณ กล่าวว่า คนพิการทุกคนต้องการการดำเนินชีวิตที่เป็นเหมือนคนธรรมดา และก่อนหน้านี้ ตนได้เคยทำหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการทีมกีฬาคนพิการทีมชาติมาแล้ว ซึ่งก็มีโอกาสได้ใกล้ชิด จึงเห็นว่า คนพิการหลายคนไม่ได้มีศักยภาพที่ด้อยไปกว่าคนปกติ และทุกคนต่างก็มีกำลังใจดี และสิ่งที่จะช่วยได้ คือ การจ้างงานคนพิการ เพราะตอนนี้มีหลายที่เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงาน องค์กรเอกชนหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญ ตรงนี้น่าจะช่วยเสริมแรงใจในการดำเนินชีวิตของคนพิการได้ดีทางหนึ่ง

“สำหรับ 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้ช่วยผลักดัน โดยในเรื่องของการจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการทุกคนที่จดทะเบียนนั้น ถึงแม้ว่าเงินที่ได้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่คิดว่าจะช่วยเหลือคนพิการได้โดยตรง จึงจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปีนี้ หรือให้ทันงบประมาณในปี 2553 โดยจะนำข้อเสนอหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพคนพิการ ซึ่งข้อมูลวิจับพบว่าผู้พิการร้อยละ 83.2 ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและการศึกษา” นางนวลพรรณ กล่าว

นางนวลพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้คนพิการเป็นรูปธรรมก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะโรงพยาบาล ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สถานีตำรวจ โดยอำนวยความสะดวกในเรื่องทางลาด ห้องน้ำ ป้ายบอกทาง ที่จอดรถ และบริการข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้จะมีการประกวดสถานที่ดีเด่นสำหรับบการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่บริการการท่องเที่ยว ที่พักอาศัย และอาคารอื่นๆ เช่น ธนาคาร หรือที่ให้บริการต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น