xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ ปรับวิธีตรวจหาเชื้อไวรัสแค่ 4 ชม.รู้ผล - อเมริกาส่งเชื้อหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ให้วิจัยถึงไทยจันทร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จุฬาฯ พัฒนาออกแบบวิธีการตรวจหาสารพันธุ์กรรมแบบเรียลไทม์ ทราบผลเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่ได้ภายใน 4 ชั่วโมง พร้อมประสาน กรมควบคุมโรคอเมริกาฯ ขอเชื้อไวรัสตายมาตรวจวิเคราะห์ ยันไม่เป็นอันตราย เชื่อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่อัตราตายต่ำไม่ถึง 1% ไม่น่ากลัวเหมือนหวัดนก แต่หากเชื้อระบาดเท่าโลกระดับ 6 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมโรค เภสัขกรเผยยาโฮเซลทามิเวียร์ไม่มีขายตามร้านขายยา สัตวแพทย์ยันกินหมูได้ปลอดภัยไม่ติดเชื้อ ด้าน พม.สั่งอพม.จังหวัดจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ว่า คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนาออกแบบวิธีการตรวจหาสารพันธุ์กรรมของยีนส์ในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 2009 แบบเรียลไทม์ (Real time PCR) ซึ่งสามารถตรวจวิเคราะห์ผลภายใน 4-6 ชั่วโมง สามารถทราบผลการตรวจทันทีว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 2009 หรือไม่ ต่างจากวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (PCR) ที่ต้องใช้เวลาตรวจหาสารพันธุ์กรรมเป็นเวลานาน ซึ่งผู้ป่วยหญิงวัย 42 ปี ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไขหวัดใหญ่ ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต้องใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์กว่าจะทราบผล 18 ชั่วโมง โดยเป็นการตรวจว่าเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 4-6 ชั่วโมง และตรวจว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่อีก 14 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ไม่ถือว่าล่าช้าเพราะสามารถวิเคราะห์และให้การรักษาได้ทันท่วงทีอยู่แล้ว

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้วิธีการรตรวจหาสารพันธุ์กรรมแบบมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการนำมาใช้แบบเดียวกันทั่วโลก โดยทางจุฬาฯ ได้เตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แบบ เพื่อใช้ตรวจยืนยัน 2 แล็บให้ได้ผลตรงกันและสร้างความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ตามกฎสากลไม่สามารถประกาศผลได้ทันที แต่ต้องมีการยืนยันซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อยืนยันผล 100% จึงรายงานไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) และประกาสผลอย่างเป็นทางการ

“ถือว่าจุฬาฯ มีความพร้อมเต็มที่ในหารตรวจหาสารพันธุ์กรรม ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนกับการระบาดของไข้หวัดนก อีกทั้งขณะนี้ได้ประสานกรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ให้ส่งต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นเชื้อตายที่ถูกทำลายแล้วไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ ไม่มีการติดต่ออย่างเด็ดขาด โดยจะมาถึงไทยภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 4 พฤษภาคม เพื่อนำมาตรวจหาสารพันธุ์กรรม (RNA) ในห้องปฏิบัติการพร้อมขยายเชื้อไวรัสเพื่อทำการศึกษาต่อไปด้วย” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากองค์การอนามัยโลกมีการประกาศยกระดับสถานการณ์ระบาดรุนแรงถึงระดับ 6 ซึ่งมีการระบาดข้ามทวีปแพร่ทั่วโลก เกิดเป็นมหัตภัยจะส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย ในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ ทุกแห่งมีกลยุทธ์ในการรับมือโดยเตรียมพร้อมทั้งห้องแยกเชื้อสำหรับผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งไม่รับผู้ป่วยที่ไม่เร็วด่วน โดยโรงพยาบลจุฬาฯ มีการซ้อมแผนปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว หากมีการระบาดรุนแรงในประเทศไทยเกิดความวุ่นวายขึ้น อาจจำเป็นต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค

อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น มีอาการป่วยหลายระดับ ทั้งรูปแบบที่รุนแรงและไม่รุนแรง ซึ่งในรูปแบบที่ไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ ซึ่งหลังจากที่มีการระบาดในเม็กซิโก สหรัฐรัฐอเมริกา รวม 10 ประเทศ ในขณะนี้อัตราการเสียชีวิตน่าจะน้อยกว่า 1% และไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่ที่มีตามฤดูกาลเพียงแต่แพร่เป็นวงกว้างมากกว่า แต่ขอให้สบายใจได้เพราะสามารถรับมือได้และไม่รุนแรงเหมือนที่เคยมีการระบาดเหมือนเมื่อ 90 ปีก่อน

“หากมีการระบาดในไทยก็ไม่ต้องตกใจ ในช่วงนี้ขอให้มีการเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็สามารถป้องกันโรคได้ หรือช่วยให้ความรุนแรงของโรคน้อยลงได้ ซึ่งหากมีอาการไม่สบายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเวลาไอ หรือจามความใช้หน้ากากอนามัยป้องกัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค เนื่องจากการไอ หรือจามครั้งหนึ่งนั้น จะทำให้เชื้อโรคแพร่ได้ไกล 5 เมตร รวมถึงให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ หากไม่มีน้ำล้างมือก็สามารถใช้แอลกอฮอล์เหลวล้างมือได้”ศ.นพ.ยง กล่าว

“โอเซลทามิเวียร์” ไม่มีขายตามร้านขายยา

ภก.ชาญกิจ พุฒิเลอพงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้มียา 2 ตัว คือ โอเซลทามิเวียร์ ชนิดรับประทาน ซึ่งองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้มีราคาไม่แพง และซานามิเวียร์ ที่เป็นชนิดพ่น แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง ส่วนประสิทธิภาพการรัษานั้นไม่แตกต่างกัน 
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า การใช้ยาดังกล่าวก่อให้เกิดอาการไม่พึ่งประสงค์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน มีประวัติการสัมผัสผู้ป่วย หรือเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายยา ซึ่งขณะนี้มีการเบิกสำรองยามาไว้ที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว
 
สัตวแพทย์ยันกินหมูได้ไม่ติดเชื้อ

ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช หัวหน้าชันสูตรโรคตับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่คาดว่ามียีนสำคัญคือ เอช1 ที่มาจากเชื้อไวรัสของสุกรจากอเมริกาเหนือ ส่วนยีนนิวรามินิเดส (เอ็นเอ) และยีนเมตริก (เอ็ม) เป็นยีนที่มาจากเชื้อไวรัสกลุ่มที่แยกได้ในยุโรป-เอเชีย (ยูเรเซีย) ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในคนและสุกรในอเมริกา และไม่พบว่ามีการแพร่กระจายไวรัสไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกในสุกรของอเมริกา เหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขศาสตร์อาหาร ดังนั้น ยังสามารถกินเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ผู้ป่วย 20 รายที่ได้รับการตรวจพิสูจน์ยืนยันโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ ไม่มีรายใดที่มีประวัติการสัมผัสสุกรโดยตรงเลย จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดโรคในสุกรได้หรือไม่ โดยสถาบันสัตว์ของสหรัฐจะประเมินทดลองฉีดเชื้อไวรัสนี้ในสุกรเพื่อวัดความรุนแรงต่อไป
 
“อิสสระ” สั่ง อพม.ร่วมเฝ้าระวัง

ด้าน นายอิสสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์โดยรวมทั้งโลก และถือเป็นภารกิจการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยตรงเช่นกัน ดังนั้นตนจึงมอบหมายให้ นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดรวมทั้งเครือข่ายต่าง ๆ  ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญของกระทรวงทุกระดับทั่วประเทศได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวในการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ซึ่งประจำอยู่ในหมู่บ้านละ 1 คนรวมจำนวน 91,554 คน ให้ประสานกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ศูนย์พัฒนาสังคม และสำนักส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ในการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด รวมทั้งแจ้งข่าวด่วนได้ที่ศูนย์ประชาบดี 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้จะได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและพร้อมสนับสนุนในทุกๆ ด้านเพื่อร่วมกันรับมือและแก้ปัญหาภัยคุกคามจากโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต่อไป

ด่วนไข้หวัดหมู ป้องกันประชาชนตระหนก

  • สธ.รับมือ “หวัดหมู” กระจายยาสำหรับ 3 แสนคน WHO เผยติดจากคนสู่คน

  • แพทย์ระบุ “หวัดหมู” รุนแรงน้อยกว่าหวัดนก แต่กระจายได้มากกว่า

  • “สุวรรณภูมิ” จับตา 8 เที่ยวบินจากเม็กซิโก ยังไม่พบติดเชื้อหมูมรณะ

  • สธ.เตรียมใช้แผนรับหวัดนก หาก WHO เพิ่มความรุนแรง “หวัดหมู” เตรียมทำคู่มือแจกปชช.

  • รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก” (ฉบับประชาชน)/เอมอร คชเสนี

  • WHO ยกระดับ “หวัดเม็กซิโก” ระดับ 4-สธ.ชง ครม.ตั้งกรรมการคุมระบาด

  • สธ.เฝ้าระวัง "หวัดเม็กซิโก"เข้มข้น คัดกรองทุกสนามบิน วอนคนไทยเลี่ยงไปพื้นที่ระบาด

  • ครม.ตั้ง “เสธ.หนั่น” นั่งประธานคุม “หวัดเม็กซิโก”

  • ด่วน! ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ “หวัดเม็กซิโก” หลังกลับจากเมืองจังโก้ รพ.จุฬาฯ แถลง 4 โมงเย็นนี้

  • จุฬาฯ แถลงพบหญิงผู้ป่วยเฝ้าระวัง “หวัดจังโก” วัย 42 ปี ลุ้นผลแล็บคืนนี้

  • ไทยโล่ง! ผลตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย แค่หวัดธรรมดา-สธ.ออกแถลงการณ์ ฉ.1

  • คำแนะนำ สธ.เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก ฉบับที่ 1

  • จุฬาฯ แถลงชัดสาวใหญ่ป่วยหวัดใหญ่ธรรมดา ไม่ใช่หวัดเม็กซิโก

  • กรมการจัดหางานเตรียมพร้อมอพยพแรงงานไทยหาก “หวัดเม็กซิโก” คุมไม่อยู่

  • กทม.ร่อนสารแจ้งโรงแรมทั่วกรุงเฝ้าระวังหวัดเม็กซิโก หวั่นนักท่องเที่ยวนำเชื้อ

  • รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก”/ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา

  • สธ.ออกคำแนะนำเรื่อง “หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ฉบับที่ 2
  • กำลังโหลดความคิดเห็น