xs
xsm
sm
md
lg

รมว.แรงงาน โปรยยาหอม เร่งออก กม.ประกันสังคม คุ้มครองแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.แรงงาน โปรยยาหอมแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน เร่งออกกฎหมายประกันสังคม ดึงรัฐร่วมจ่าย หวังขยายสิทธิการดูแลสุขภาพ ขณะที่ตัวแทนแรงงานนอกระบบขอเพิ่มอีก 2สิทธิประโยชน์ พร้อมทั้งเสนอผู้ว่าฯ กทม.ออก 4 มาตรการ พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบใน 50 เขต กทม.

วันนี้ (30 เม.ย.) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กทม.จัดงานมหกรรมสมัชชาแรงงานนอกระบบ โดยมีนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวว่า แรงงานนอกระบบมีกว่า 24 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้พี่น้องแรงงานนอกระบบไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่มีหลักประกันด้านสวัสดิการ หรือการประกันสังคม เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ ดังนั้น เพื่อสร้างระบบการดูแลคุ้มครองกลุ่มแรงงานนอกระบบ อย่างครอบคลุมและทั่วถึงโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเรื่องนี้

ซึ่งจากผลการศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการขยายการประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ พบว่า ช่องว่างที่สำคัญของการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ คือ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่แม้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตน โดยสมัครใจตามมาตร 40 แต่เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ยังไม่สอดคล้องกับแรงงานนอกระบบ ทั้งกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องเป็นผู้จ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว ปีละ 3,360 บาท ขณะที่ได้รับสิทธิประโยชน์ เพียง 3 กรณี คือ 1.คลอดบุตร 2.ทุพพลภาพ และ 3.ตาย ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากผู้ประกันตนในระบบ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะขยายหลักประกันทางสังคม ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ คือ ให้รัฐบาลและผู้ประกันตนร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายและปรับชุดสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการและกำลังความสามารถในการจ่ายของแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ได้เสนอโดยทางปฏิบัติ จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งขณะนี้ สปส.ได้เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมไปแล้ว โดยระบุว่า “ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตรากำหนดในกระทรวง แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน” ซึ่งอยู่ในขั้นตอนในการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา และรัฐบาลจะผลักดันให้มีการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายให้ผ่านการพิจารณาโดยเร็ว

ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอของแรงงานนอกระบบที่มีการประชุมกันก่อนหน้านี้ความต้องการที่สำคัญ คือ สวัสดิการสังคม ถึงแม้ว่าปัจจุบัน สปส.ได้เปิดให้แรงงานนอกระบบสมัครใจตามมาตร 40 แต่เงื่อนไขสิทธิประโยชน์นั้นไม่สอดคล้องกับแรงงาน โดยตรงทำให้ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบสมัครเพียง 39 คนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเป็น 3,360 บาท แต่ได้สิทธิประโยชน์แค่ 3 กรณี คือ 1.คลอดบุตร 2.ทุพพลภาพ และ 3.ตาย ขณะที่ผู้ประกันตนในระบบได้รับมากถึง 7 กรณี คือ 1.เจ็บป่วย 2.คลอดบุตร 3.ทุพพลภาพ 4.ตาย 5.สงเคราะห์บุตร 6.ชราภาพ และ 7.กรณีว่างงาน ดังนั้น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ของเสนอสิทธิประโยชน์เพิ่ม อีก 2 ข้อ คือ กรณีขาดรายได้ทดแทน และ กรณีชราภาพ เพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้เสนอนโยบายแก่ผู้ว่าฯ กทม.ดังนี้ 1.สนับสนุนกองทุนสวัสดิการสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ โดยพิจารณาต่อยอดจากฐานกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการเพื่อพึ่งตนเองในระยะยามในรูปแบบของเงินอุดหนุน โดยมีสัดส่วนการอุดหนุน ระหว่างกลุ่มแรงงานนอกระบบและกรุงเทพฯในสัดส่วน 1 ต่อ 1 และกำหนดให้เป็นข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร 2.สนับสนุนการจ้างงานให้กับกลุ่มอาชีพใน 5 ประเภทงาน ได้แก่ 1) ตัดเย็บเสื้อผ้า (ชุดนักเรียนและเครื่องแบบพนักงานรักษาความสะอาดและพลขับ 2) หล่อฝาท่อระบายน้ำ 3) ทาสีป้ายรถเมล์และสะพานลอย 4) ปูตัวหนอนพื้นฟุตปาท และ 5) ล้อมรั้วต้นไม้ โดยกำหนดโควตาการจ้างงานให้กับกลุ่มอาชีพในชุมชนซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ อย่างน้อยร้อยละ 10 ของปริมาณงานในแต่ละประเภท 3.สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพศูนย์สุขภาพชุมชนและอาสาสมัครสาธารสุข (อสส.) ให้เป็นกลไกสนับสนุนการจัดบริการอาชีวอนามัยเชิงรุกร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขโดยการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะเบื้องต้นในการประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อให้เป็นกลไกการเฝ้าระวังด้านอาชีวอนามัยชุมชน 4.จัดทำโครงการนำร่องเรื่องการจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นใน 12 ศูนย์บริการสาธารณสุข ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กทม. สปสช.และ อสส.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น