ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ อาจจะมีตัวเลือกเป็นโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐหรือเอกชนมากมาย แต่สำหรับผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑลรอบๆ กรุงเทพฯ การจะเข้ามารับการตรวจรักษาแต่ละครั้ง ดูจะเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยไม่น้อย ไหนจะต้องฝ่ารถติด ต้องรอคิว กว่าจะได้ตรวจ บางครั้งมาถึงที่ก็ได้แต่เพียงวันนัด
แต่นับจากนี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในเขตปริมณฑล มีตัวเลือกในการใช้บริการการวินิจฉัยและรับรักษาได้ที่ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี...กับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย โดยเฉพาะขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้เปิด “โครงการแสกนกระดูกทันใจ” ด้วยเครื่องแสกนกระดูก(Express Bone Scan) ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระราชทานให้ศูนย์ฯ เพื่อนำมาตรวจคัดกรองผู้ป่วย
“ศูนย์ฯ นี้มีเตียงผู้ป่วยทั้งหมด 400 เตียง ซึ่งในปัจจุบันนี้ใช้อยู่ 88 เตียง โดยหลักการแล้วศูนย์ฯ ของเราจะรับผิดชอบรับผู้ป่วยมะเร็งในเขตจังหวัดนนทบุรี นครนายก ปทุมธานี ออกไปถึงปราจีณบุรีและอยุธยาด้วย ซึ่งจำนวนปริมาณประชากรรวมจากมหาดไทยให้ข้อมูลว่า มีทั้งหมด 3.3 ล้านคน และจากสถิติที่เคยสำรวจไว้ ประชากร 100,000 คน จะพบผู้ป่วยมะเร็ง 100 คน ดังนั้นหากคิดจากสถิตินี้ อย่างน้อยเราจะต้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราวๆ 3,000 ราย ต่อปี”
นพ.ธนเดช สินธุเสก ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์กล่าวให้ข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้รับบริการตรวจวินิจฉัยและตรวจรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจร โดยเน้นการรักษาไปในด้านรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นหลัก
ล่าสุดทางศูนย์ฯ ได้ผุดโครงการดีๆ อย่าง “โครงการแสกนกระดูกทันใจ” สำหรับคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งที่มีแนวโน้มว่ามะเร็งอาจจะกระจายไปยังกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อหาทางรักษาได้ทันท่วงที โดยนพ.รณน ทรงสวัสดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ให้ข้อมูลว่า จากการรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิดของศูนย์ฯ ทำให้เห็นว่ามีมะเร็งบางชนิด มีธรรมชาติที่มักจะชอบกระจายเซลล์มะเร็งไปยังกระดูกด้วย
“มะเร็งที่เรามักพบว่ากระจายเข้าไปในกระดูก ก็มีมะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนังบางชนิด นอกจากนี้ก็มีมะเร็งบางชนิดเหมือนกัน แต่อุบัติการณ์การกระจายเข้ากระดูกไม่สูงเท่าชนิดที่บอก กระดูกเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย ถ้าหากมะเร็งเข้ากระดูกจะมีอาการปวดจนไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ที่แย่กว่านั้นก็คืออาจจะทำให้กระดูกหัก และหากกระดูกที่หักไปกดทับไขสันหลังก็จะทำให้เป็นอัมพาตท่อนล่าง หรือถ้าหักบริเวณต้นคอ ก็อาจจะทำให้ถึงขั้นเป็นอัมพาตทั้งตัว”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งรายนี้กล่าวต่อไปอีกว่า ภาวะอัมพาตจากมะเร็งแพร่กระจายเข้าไปในกระดูกป้องกันได้ หากรู้ถึงการแพร่กระจายได้เร็วและทันพอที่จะหาทางป้องกันแก้ไขและรักษา ซึ่งการตรวจการแพร่กระจายนี้สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องแสกนกระดูก Express Bone Scan
ด้านอัมพร ขันจันทร์ หัวหน้าฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักรังสีการแพทย์ประจำศูนย์ฯ อธิบายถึงวิธีการเข้าเครื่องแสกนกระดูกของผู้ป่วยมะเร็งว่า ภายหลังจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าผู้ป่วยนั้นๆ มีความเสี่ยงที่มะเร็งในร่างกายจะแพร่กระจายไปยังกระดูก ก็จะส่งมาเข้าเครื่องแสกนกระดูกเครื่องนี้ โดยขั้นแรกผู้ป่วยจะถูกฉีดเภสัชรังสีที่ชื่อ 99mTc-MDP Bone Scan เข้าไปทางหลอดเลือดดำที่แขน จากนั้นรอให้สารเข้าไปในร่างกายราวๆ 3-4 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะนำผู้ป่วยไปเข้าเครื่องBone Scan
“แทบไม่มีข้อจำกัดในการใช้เครื่องนี้ เว้นแต่ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหงายได้ ซึ่งเราก็จะหาทางออกเป็นกรณีไป อาจจะตรวจด้วยวิธีอื่นหรืออาจจะให้นั่งแสกน แต่ภาพอาจจะไม่ชัดเท่าท่านอน อีกกรณีหนึ่งคือสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร นอกนั้นเข้าเครื่องแสกนได้หมด ในส่วนของเวลาการแสกนนั้น เฉพาะช่วงการแสกนร่างกายจะใช้เวลาราวๆ 30 นาที
เครื่องนี้จะมีจุดเด่นตรงที่เข้าเครื่องครั้งเดียว จะแสกนได้ทั้งตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ในขณะที่เครื่องอื่นๆ ทำได้เป็นส่วนๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องทำหลายครั้งในกรณีต้องการตรวจหลายตำแหน่ง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องโดนสารรังสีมากขึ้นไปด้วย เมื่อเราได้ภาพออกมา
ถ้ามีจุดดำๆ ที่บริเวณปากหรือกระดูกกราม ก็ต้องดูว่ามีฟันผุหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องหากันต่อไปว่าเป็นอะไร เครื่องนี้จะบอกหมดทุกจุดหากตรวจพบรอยโรค แต่จะบอกไม่ได้ว่ารอยไหนมาจากอะไร คือเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องเช็คอีกครั้งหลังได้ภาพแสกนออกมาทั้งหมดว่าว่า จุดดำๆ ตรงไหนเกิดความผิดปกติอะไร
บางครั้งเราพบจุดดำที่หัวเข่าสองข้าง อันนี้ส่วนใหญ่ก็จะมาจากเข่าเสื่อมมากกว่าการแพร่กระจายของมะเร็ง เพราะโดยธรรมชาติของมะเร็ง การแพร่กระจายที่เครื่องนี้ตรวจได้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มๆ เป็นปื้นๆ ไม่ค่อยเป็นจุดเดียว และจะไม่สมมาตรกัน ซึ่งการตรวจแบบนี้จะได้ผลมากกรณีคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีการแพร่กระจายของมะเร็ง เพราะตรวจได้เร็วและละเอียดทั้งตัว”
หัวหน้าฝ่ายเวชศาสตร์นิวเคลียร์กล่าวต่อไปว่า กรรมวิธีการเตรียมตัวจนถึงการเข้าเครื่องแสกนกระดูกนี้ ใช้เวลารวมทั้งการฉีดสารเภสัชรังสีเข้าไปร่างกายทั้งหมดก็ประมาณ 4 ชั่วโมง ในขณะที่นพ.ธนเดชกล่าวเสริมว่า ที่ใช้ชื่อ “โครงการแสกนกระดูกทันใจ” ไม่ใช่เพราะว่าเครื่องแสกนของศูนย์ฯ เร็วกว่าที่อื่น แต่ที่ “ทันใจ” นั้นคือการบริการ
“เราเห็นใจผู้ป่วยที่อยู่ไกล บางคนมาจากสระบุรี บางคนมาจากนครราชสีมา บางครั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อาจจะต้องรอคิวนาน บางครั้งก็ไม่ได้ตรวจ ต้องนัดใหม่ เสียเวลา เสียค่ารถมาใหม่อีก เราเข้าใจในจุดนี้ จึงพยายามจะทำให้เสร็จภายในวันเดียว ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ อย่างแสกนกระดูกก็ใช้เวลาทำต่อรายประมาณ 4 ชั่วโมง ก็คือทำแล้วกลับบ้านได้ภายในวันนั้น ซึ่งเราก็จะพยายามให้ดีที่สุดที่จะลดภาระการเดินทางมาตรวจรักษาของผู้ป่วยครับ” ผอ.ศูนย์ฯ ทิ้งท้าย