xs
xsm
sm
md
lg

แนะเคล็ดผู้สูงอายุดูแลผิวพรรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจตลอดจนสุขภาพผิวพรรณ เนื่องจากมีภูมิต้านทานลดลง ผิวของผู้สูงอายุจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย ผิวฉีกขาดง่าย และมีโอกาสระคายเคืองได้มากกว่าผิวของวัยหนุ่มสาว นอกจากนี้ความสามารถของผิวในการซ่อมแซมบาดแผลต่างๆ จะช้าลง เป็นเหตุให้บาดแผลในผู้สูงอายุจะเป็นนานกว่าวัยอื่น อีกทั้งอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้การหายของแผลช้าลง

สำหรับโรคผิวหนังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อราที่ผิวหนังโดยเฉพาะถ้าเป็นโรคเบาหวาน มะเร็งของผิวหนัง ผื่นแพ้ยา ภาวะผิวแห้ง โรคตุ่มฝี ตุ่มหนอง โรคตุ่มน้ำพองใส ทั้งนี้ จากสถิติของผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนังในเดือนตุลาคม 2549 ถึง กันยายน 2550 พบว่า มีผู้สูงอายุ มารับบริการตรวจรักษาโรคผิวหนังจำนวน 6,528 คน คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด 78,456 คน

นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายเสริมว่า ผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดผิวแห้งได้บ่อย ผิวหนังมีโอกาสแตกปริหรือเป็นแผลได้ง่ายกว่าผิวทั่วไป โดยเฉพาะที่เท้า มือ ใบหน้าและขาบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งเป็นส่วนที่มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าส่วนอื่น นอกจากนี้เนื้องอกที่ผิวหนังเป็นภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีทั้งที่เป็นเนื้องอกธรรมดาและมะเร็งผิวหนัง การรักษามีทั้งการผ่าตัด การจี้ด้วยไฟฟ้า การใช้แสงเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก

ดังนั้น ผู้สูงอายุควรหมั่นสำรวจความผิดปกติของผิว หากพบว่ามีความผิดปกติ เช่น ผิวมีก้อน เม็ด เป็นตุ่มนูน มีลักษณะแข็ง แตกเป็นแผล มีเลือดออก อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากพบว่าผิวมีผื่นขาวหรือแดง มีอาการชา หรือไม่เจ็บไม่คัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปีอาจเป็นโรคเรื้อน นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตจาง มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร อาจมีผิวเป็นตุ่มก้อนได้

ด้านนพ.จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุควรดูแลผิวพรรณ โดยดื่มน้ำให้มากพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง โดยไม่อาบน้ำร้อน ไม่อาบน้ำนาน รวมทั้งไม่ควรใช้สบู่ยาเพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง หมั่นทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวอย่างสม่ำเสมอ ตัดเล็บให้สั้น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และสวมถุงเท้าก่อนนอนหากนอนในห้องแอร์ เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนัง นอกจากนี้ ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง หากต้องสัมผัสสารเคมีที่ระคายเคืองควรใช้วัสดุป้องกัน เช่น ถุงมือ รองเท้าบูตและหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษ
กำลังโหลดความคิดเห็น